จากรายงานข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก กรณีสหราชอาณาจักร พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิง กรมควบคุมโรค จึงจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์ โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) พร้อมทั้งคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นำไปสู่การจัดทำแผนป้องกันโรคในระยะยาว และระยะกลาง รวมถึงปรับปรุงกลยุทธ์ และมาตรการต่าง ๆ ให้เหมาะสม
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่า ประเทศไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง แต่อย่างไรก็ตามช่องทางการเข้า-ออกระหว่างประเทศ หรือผู้ที่เดินทางจากประเทศเสี่ยงสูงที่ไปในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญต่าง ๆ จากข้อมูลกองด่านควบคุมโรคติดต่อ รายงานว่า ผู้เดินทางที่ลงทะเบียนจากประเทศเสี่ยงสูง ได้แก่ สหราชอาณาจักร สเปน โปรตุเกส
ระหว่างวันที่ 1-22 พ.ค. 65 มีผู้เดินทางจากสหราชอาณาจักร จำนวน 13,142 คน จากสเปน 1,352 คน และโปรตุเกส 268 คน กรมควบคุมโรค จึงยกระดับสถานการณ์ เพื่อเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางจากประเทศเสี่ยงเหล่านี้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และหากต้องเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง ควรระมัดระวัง ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก และสัตว์ตระกูลไพรเมต เช่น ลิง ถึงแม้ว่ายังไม่มีรายงานพบเชื้อในสัตว์เหล่านี้ในประเทศไทยก็ตาม หากมีการสัมผัสสัตว์ให้รีบล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด และหลังจากเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรคฝีดาษลิง ให้สังเกตอาการ หากพบมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง
- ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention (UP) โดยการหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิดไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก กินอาหารปรุงสุก เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัส สารคัดหลั่ง บาดแผล เลือดน้ำเหลืองของสัตว์ หรือกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงไม่สุก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย ละอองฝอย หรือน้ำเหลืองจากผู้ที่สงสัยป่วยหรือมีประวัติเสี่ยง
ทั้งนี้ การแพร่เชื้อจากคนสู่คน แม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่ง จากทางเดินหายใจ หรือผิวหนังที่เป็นตุ่ม ซึ่งทางกรมควบคุมโรคจะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบเป็นระยะ หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-590-3839 หรือ สายด่วน 1422
ที่มา : นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565