ช่วงหน้าฝน เกษตรกรที่เลี้ยงกุ้ง หรือหอย ในกระชัง มักจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม น้ำจืดไหลลงทะเล ทำให้ผลผลิตเสียหาย เช่นเดียวกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนางรม ในพื้นที่ตำบลกะแดะ อำเภอกาญจนดิษฐ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ประสบปัญหานี้ โดยในปี 2563 ผลผลิตได้รับความเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท! จึงทดลองเลี้ยงหอยนางรมในบ่อดินขนาด 3 ไร่ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ มีค่า นิวส์ จะพาไปดูเคล็ด (ไม่) ลับ ของการเพาะเลี้ยงแบบนี้กันค่ะ
คุณกันตดา เพ็งเอียด เจ้าของเอเชียกาญจนดิษฐ์ฟาร์ม เล่าให้เราฟังว่า ทดลองเลี้ยงหอยนางรมมาประมาณ 2 ปีแล้ว จนวันนี้ สามารถเริ่มทยอยเก็บมาขายและแปรรูปได้ โดยในบ่อจะทดลองด้วยวิธีการเลี้ยงแบบลูกพวง แบบแขวนตะกร้าและแบบติดกระเบื้อง รวม 30,000 ตัว ในนามศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงหอยนางรมในบ่อดิน เอเชียกาญจนดิษฐ์ฟาร์ม
ปัจจัยหลักที่เราคิดทำตรงนี้ขึ้นมา เพราะว่าปัจจุบันสภาวะแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติที่เปลี่ยนไป ดังนั้น นวัตกรรมการเลี้ยงหอยนางรมในบ่อดินจะเป็นอีกทางรอดหรือทางเลือกให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหอย ซึ่งการเลี้ยงในบ่อดินเราสามารถที่จะควบคุมปัจจัยในการเลี้ยงได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงการควบคุมปริมาณหอยให้เพียงพอต่อออเดอร์ที่ได้รับมา
ไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพอากาศ ที่จะส่งผลต่อปริมาณหอยในทะเล ไม่ต้องรอน้ำขึ้นน้ำลงในการเก็บลูกหอย สามารถที่จะรับออเดอร์ล่วงหน้าได้ และสามารถต่อรองกับลูกค้าได้เลย เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีที่อนุญาตในทะเล ไม่ต้องบุกรุกที่ในทะเลซึ่งจากที่ได้ดำเนินการเลี้ยงมา 2 ปีนั้น พบ่วา การเจริญเติบโตของหอยนางรมอยู่ในเกณฑ์ดี
สำหรับการเลี้ยงในบ่อดินเป็นแนวที่ดี ที่เราสามารถจับต้องได้ว่า แต่ละปีเราจะเลี้ยงหอยนางรมได้เท่าไหร่ อัตราการรอด 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมาดูทนทุนการเลี้ยง ก็ไม่มาก ซึ่งจะซื้อลูกพันธุ์มาจากเกษตรกรตัวละ 3- 5 บาท หรือ 10 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของลูกหอย หากไซส์ใหญ่ การเจริญเติบโตจะเร็วขึ้นเท่านั้น
ส่วนที่ฟาร์มเลี้ยงอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะตัวละ 5 บาท โดยบ่อ 3 ไร่เลี้ยงสูงสุดประมาณ 60,000 ตัว เป็นสายพันธุ์ตะโกรมตอนนี้เลี้ยงมาเกือบ 2 ปีแล้วอยู่ในไซส์ที่สามารถจะเก็บไปจำหน่ายให้กับลูกค้าได้แล้ว ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวบ้านดอน จะมีเชื้อหอยนางรมเกิดมากที่สุด และใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโต 2-3 ปีเช่นกัน ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับเกษตรกร