ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 กัญชาและกัญชง ถูกปลดล็อก ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 แต่สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา หรือกัญชง ยังเป็นยาเสพติดในประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ และมีสาร THC ไม่เกิน 0.2 % เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชา หรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ เนื่องจากสาร THC เป็นสารเสพติด หากใช้ขนาดสูงเป็นประจำจะทำให้เกิดภาวะดื้อต่อสาร ทำให้ต้องมีการเพิ่มขนาดเพื่อจะให้ได้ผลเท่าเดิมและเกิดการติดได้
มีค่า นิวส์ ทราบจากนายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการใช้กัญชาให้ปลอดภัย โดยระบุว่า หลังจากปลดล็อคกัญชาแล้ว อาจทำให้กลุ่มวัยรุ่นรวมถึงประชาชนทั่วไปให้ความสนใจการนำกัญชาไปใช้มากขึ้น ซึ่งในบางกลุ่มอาจมีการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
เนื่องจากการออกฤทธิ์ของกัญชาในระยะแรก จะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้ใช้ตื่นตัว ร่าเริง หัวเราะง่าย ช่างพูด พูดคนเดียว ยิ้มคนเดียว ไม่หลับไม่นอนเมื่อเวลาผ่านไป 1-2 ชั่วโมง จะเริ่มออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้มีอาการคล้ายกับเมาเหล้า หน้าแดง ลิ้นไก่พันกัน พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง เซื่องซึม ง่วงนอนตลอดเวลา ถ้าใช้ในปริมาณมาก จะทำให้เกิดภาพลวงตา ควบคุมตัวเองไม่ได้ เมื่อหมดฤทธิ์จะทำให้ผู้ใช้ มีอารมณ์อ่อนไหว เลื่อนลอย สมองสั่งงานช้า ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ใจสั่น หูแว่ว
ดังนั้น ผู้ใช้กัญชา จึงไม่ควรขับขี่ยานพาหนะอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ทั้งนี้ในกลุ่มเยาวชนอายุน้อยกว่า 25 ปี กลุ่มผู้สูงอายุควรใช้กัญชาด้วยความระมัดระวัง และห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการโรคหัวใจและหลอดเลือดขั้นรุนแรงหรือไม่สามารถควบคุมอาการได้ ผู้ที่มีประวัติความผิดปกติทางจิตเวช รวมถึง สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร
หากมีการนำไปใช้ในทางที่ผิด อาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ดังนี้
- อ่อนเพลีย
- น้ำหนักตัวลดลง
- ร่างกายเสื่อมโทรม ไม่สามารถทำงานได้
- ความคิดและการตัดสินใจเสื่อมถอย
- ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- วิตกกังวล หวาดระแวง เลื่อนลอย สับสน ฟั่นเฟือน ประสาทหลอน ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
ดังนั้น ครอบครัวและญาติ ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้กัญชา หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด หรือใช้ผิดวิธี ให้รีบพูดคุย รวมถึงให้รีบพาไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง หรือติดต่อขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่สายด่วนยาเสพติด 1165
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.pmnidat.go.th/thai/
ที่มา : นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 14 มิถุนายน 2565