นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ตั้งแต่ 1 ก.ค.2565 สปสช. จะลอยแพผู้ป่วยโควิด-19 โดย สปสช. ขอชี้แจงและยืนยันว่า จะไม่มีการลอยแพผู้ป่วยโควิด-19 แต่อย่างใด ผู้ป่วยยังคงได้รับการรักษาฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม
หลังจากนี้ หากประชาชนมีอาการเข้าข่ายว่าจะติดโควิด-19 ให้ปฏิบัติ ดังนี้
1. สามารถขอรับชุดตรวจ ATK ที่ร้านขายยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” หรือใช้บัตรประชาชนไปรับ เพื่อตรวจยืนยันได้ทันที
2. หากขึ้น 2 ขีดคือผลเป็นบวกว่า ติดเชื้อโควิด-19 ปฏิบัติดังนี้
- กลุ่มที่มีอาการไม่มาก หรือกลุ่มสีเขียว เข้ารักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิหรือหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งจะได้รับการดูแลรักษาตามแนวทางเจอแจกจบของกระทรวงสาธารณสุข หรือ โทรประสานร้านขายยาตามรายชื่อที่อยู่ในเว็บไซต์ สปสช. เพื่อรับยาตามโครงการเจอแจกจบที่ร้านขายยาได้เช่นกัน
- กรณีเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่ม 608 หรือมีอาการรุนแรง จะถูกพิจารณาให้พบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษา หากแพทย์ให้การรักษาแบบใดตามดุลพินิจของแพทย์ สิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละท่านก็จะดูแลครอบคลุมหมด ในส่วนของผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท สปสช.ก็ดูแลค่าใช้จ่ายครอบคลุมทั้งหมดเช่นกัน หากแพทย์มีดุลพินิจให้รักษาแบบ Home Isolation หรือเป็นผู้ป่วยในต้องแอทมิทนอนโรงพยาบาล ก็อยู่ในความครอบคลุมของสิทธิประโยชน์เช่นกัน
- หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินตามเกณฑ์สีเหลือง-แดง ก็ใช้สิทธิ UCEP Plus เข้ารักษาโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ ในส่วนของสายด่วน สปสช. 1330 หลังจากวันที่ 1 ก.ค.2565 ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่จำเป็นต้อง โทรแจ้งแล้ว แต่หากมีข้อสงสัยว่าจะต้องทำอย่างไร โทรมาสอบถามขั้นตอนได้ หรือหากมีอาการแย่ลงจะต้องทำอย่างไรต่อ หรือต้องการประสานหาเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาลก็โทรมาได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ไม่ใช่ว่ารัฐจะไม่ดูแล รัฐก็ยังดูแลอยู่ภายใต้งบประมาณจากกองทุนต่าง ๆ เน้นย้ำว่าหลักประกันสุขภาพทุกระบบเตรียมพร้อมที่จะรับดูแลประชาชนในแต่ละกลุ่มของหลักประกันสุขภาพนั้น ๆ ยืนยันว่าไม่ได้ลอยแพผู้ป่วยแต่อย่างใด ผู้ป่วยโควิด-19 ยังคงได้รับการรักษาไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม
ด้าน พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สายงานบริหารกองทุน สปสช. กล่าวว่า ในวันที่ 4 ก.ค. นี้ทางคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จะมีการประชุมหารือ จะเพิ่มค่าใช้จ่ายหมวดโควิด-19 ที่เดิมที่ได้รับงบประมาณที่ได้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน จะนำมาอยู่ในงบบัตรทอง ซึ่งตามหลักการจะเปลี่ยนจากการใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน มาเป็นระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพในแต่ละระบบ
สำหรับสิทธิการรักษาพยาบาลเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนด ประชาชนต้องได้รับการดูแลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ฉะนั้นไม่ว่าโควิด-19 จะเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่นั้น ประชาชนเคยได้รับสิทธิอย่างไรก็จะยังได้รับสิทธิเหมือนเดิม หากประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงใหม่แต่เข้ามาทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และใช้สิทธิบัตรทอง ก็จะมีหน่วยบริการที่อยู่ในระบบให้การดูแล
อย่างไรก็ดี โรคโควิด-19 แม้จะไม่ใช่โรคระบาดร้ายแรง แต่ก็ยังเป็นโรคที่สามารถฉุกเฉินได้ เมื่อประชาชนป่วยเป็นโรคโควิด-19 เกิดหายใจไม่สะดวก มีอาการเข้าข่าย UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตถึงแก่ชีวิตหรืออยู่ในกลุ่มอาการสีแดงก็สามารถเข้ารักษาได้ ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นส่วนที่ระบบสำรองเอาไว้ แต่ถ้าผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มอาการสีเขียว-สีเหลืองก็เข้ารักษาตามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีอยู่
หากผู้ป่วยยังมีอาการที่หลงเหลือจากการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งอาจจะเป็นอาการทางระบบทางเดินหายใจ ไอ บางรายนอนไม่หลับ รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ เรื่องของการรักษานั้น กรมการแพทย์ก็ได้มีการออกแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะลองโควิด ซึ่งเมื่อเป็นการรักษาระบบกองทุนก็ยังจ่ายเหมือนเดิมเป็นการรักษาต่อเนื่อง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
หมายเหตุ : ดูรายชื่อร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการเจอ แจก จบ ได้ที่ https://www.nhso.go.th/downloads/197
ที่มา: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ