นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 อนุมัติวงเงิน 8,382.2 ล้านบาท จ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุ จำนวน 10.95 ล้านคน เพื่อบรรเทาผลกระทบเศรษฐกิจ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง กันยายน 2565 หลังจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 เมษายน 65 อนุมัติหลักการให้จ่ายช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุ (เฉลี่ยรายละ 100-250 บาท/คน/เดือน ตามช่วงอายุ)
สำหรับโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุ ดังกล่าว มีสิทธิ 4 กลุ่ม มีค่า นิวส์ สรุปได้ดังนี้
1.อายุ 60 – 69 ปี ( จำนวน 6.5 ล้านคน) อัตราเงินช่วยเหลือ 100 บาท/คน/เดือน
2.อายุ 70 – 79 ปี (จำนวน 3.0 ล้านคน) อัตราเงินช่วยเหลือ 150 บาท/คน/เดือน
3.อายุ 80 – 89 ปี (จำนวน 1.2 ล้านคน) อัตราเงินช่วยเหลือ 200 บาท/คน/เดือน
4.อายุ 90 ปี ขึ้นไป (จำนวน 1.9 แสนคน) อัตราเงินช่วยเหลือ 250 บาทต่อคนต่อเดือน
ปัจจุบันได้รับการยืนยันข้อมูล จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา พบว่า มีผู้สูงอายุกลุ่มเป้าหมายจำนวน 10,946, 646 คน เพิ่มขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 จำนวน 50,202 คน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ลงทะเบียนของกลุ่มผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยสูงอายุ ที่นับรวมผู้สูงอายุที่จะครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปี 2565 วงเงินงบประมาณจำนวน 8,382.2 ล้านบาท
สำหรับแผนการจ่ายเงินครั้งแรก กำหนดงวดที่หนึ่ง ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 นี้ เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษครั้งเดียวสำหรับ 4 เดือน (เมษายน-กรกฎาคม 2565) ครั้งที่สอง 19 สิงหาคม 2565 สำหรับเดือนสิงหาคม และครั้งที่สาม 19 กันยายน สำหรับเดือนกันยายน 2565 โดยวิธีการดำเนินการการจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุ จะดำเนินการทั้งในรูปแบบการจ่ายเข้าบัญชีธนาคาร โดยกรมบัญชีกลาง และการจ่ายเงินสดให้กับผู้สูงอายุ โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาต่อไป