โรคฉี่หนู เป็นโรคที่ต้องยอมรับเลยว่ามาทุกหน้าฝนในประเทศไทยจริง ๆ และยิ่งด้วยกระแสโซเชียลเมื่อไม่นานมานี้ที่มีการแชร์คลิปฝูงหนูท่อนับร้อยใต้แฟลตดินแดง ยิ่งทำให้ตอกย้ำว่าโรคฉี่หนูยังไม่หมดไปจากประเทศไทย และหากยิ่งปล่อยไว้อย่างนี้อาจทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคฉี่หนูเพิ่มมากยิ่งขึ้นแน่นอน โดย มีค่า นิวส์ ทราบข้อมูล และคำแนะนำในการรับมือโรคฉี่หนูจากกรมควบคุมโรค จึงมาให้ดังนี้
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้หนูชุกชุมมีหลากปัจจัย เช่น มีเศษอาหาร หรือกองขยะที่เป็นแหล่งอาหารมากมายสำหรับหนู ประกอบกับเมื่อมีฝนตกอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำท่วมขัง หนูจึงมีการย้ายที่อยู่ขึ้นมาข้างบนพื้นผิวถนนเพื่อหนีน้ำ จึงเตือนประชาชนให้ระวังภัยอันตรายและโรคที่มากับหนู เช่น โรคฉี่หนู (จากตัวหนู) กาฬโรค (จากหมัดหนู) สครับไทฟัส (จากไรหนู) ฮันตาไวรัส โรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้หนูกัด รวมทั้งโรคพยาธิต่างๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น โค กระบือ สุกร สุนัข และ หนู ซึ่งเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ
โดยโรคไข้ฉี่หนูสามารถติดต่อได้ทั้งทางตรง และทางอ้อม ดังนี้
- การสัมผัสกับปัสสาวะหรืออวัยวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ
- การกินน้ำหรืออาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน
- การเดินลุยน้ำย่ำดินที่ชื้นแฉะและมีเชื้อปนเปื้อน โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน น้ำฝนจะชะล้างพาเชื้อโรคที่มากับปัสสาวะของสัตว์ไหลมาร่วมกันในบริเวณน้ำท่วมขัง ทำให้คนที่อยู่บริเวณนี้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย
อาการของโรคฉี่หนู ซึ่งเมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะฟักตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยเริ่มแรกจะมีอาการ ดังนี้
- ไข้เฉียบพลัน
- ปวดศีรษะ
- ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่อง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสีย
- ตาแดง
- หากอาการรุนแรง จะทำให้ตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวาย ไอเป็นเลือด หายใจลำบาก และเสียชีวิตในที่สุด
ข้อมูลเพิ่มเติม: โรคนี้มียารักษาที่เฉพาะเจาะจง หากได้รับการรักษาทันท่วงทีจะป้องกันการเสียชีวิตได้ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักซื้อยามากินเอง เนื่องจากอาการเริ่มแรกคล้ายกับโรคไข้หวัด หรือโรคติดเชื้ออื่น ๆ กว่าจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็มีอาการรุนแรงมากจนนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด
นอกจากนี้ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หนู ถือเป็นสัตว์ตัวการสำคัญที่ทำให้เชื้อโรคฉี่หนูหมุนเวียนอยู่ในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมได้ แนะนำให้ต้องมีการควบคุมประชากรหนูโดยยึดหลัก 3 กำจัด ดังนี้
- กำจัดหนู หรือดักหนูด้วยวิธีต่าง ๆ
- กำจัดแหล่งอาหารของหนู ได้แก่ หมั่นทำความสะอาดบ้าน อาคาร และบริเวณโดยรอบไม่ให้มีเศษอาหารหรือขยะ ปิดฝาถังขยะให้มิดชิด กำจัดกองขยะเป็นประจำหรือนำไปทิ้งในบริเวณที่เตรียมไว้ ทำความเข้าใจกับประชาชนในการงดให้อาหารหนู หากมีความจำเป็นสามารถใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมได้
- กำจัดที่อยู่อาศัยของหนู เช่น ปิดรูซอกอาคาร หรือปิดฝาท่อ เป็นต้น
วิธีการป้องกันตนเองจากโรคฉี่หนู และโรคที่มากับหนูได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือเดินเข้าใกล้หนู หากถูกหนูกัดให้รีบไปพบแพทย์
- หลีกเลี่ยงการแช่น้ำหรือลุยน้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นให้สวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกหุ้มเท้า เมื่อกลับถึงบ้านให้ทำความสะอาดร่างกายทันทีเพื่อลดการสัมผัสเชื้อ
- กินอาหารสุกใหม่ เก็บอาหารให้มิดชิด หลีกเลี่ยงการกินอาหารค้างคืนโดยไม่มีภาชนะปิด
- หากมีอาการสงสัยโรคฉี่หนูให้รีบไปพบแพทย์ทันที จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้
กรณีมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ที่มา: นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์เมื่อ 7 กรกฎาคม 2565