โรคนอนกัดฟัน อาจเป็นโรคที่หลายคนเคยได้ยิน และรู้จักมาพอสมควร แต่ว่าก็ไม่ได้จะเจอได้บ่อยใช่ไหมครับ ถึงอย่างนั้นก็ไม่ควรที่จะปล่อยไว้นะครับ เพราะโรคนี้อาจไม่ได้แสดงอาการที่ชัดเจนออกมา แถมถ้าไม่มีใครสังเกตแล้วนำมาบอกคนที่เป็นโรคอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้ครับ ดังนั้น มีค่า นิวส์ เลยไปหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้มารวมไว้ให้ที่นี่ เพื่อให้ทุกคนได้สังเกตตนเอง คนรอบข้าง และมีแนวทางในการปฏิบัติหากมีเป็นโรคนอนกัดฟัน
โรคนอนกัดฟัน เป็นการกัดเน้นหรือเคี้ยวระหว่างฟันกับฟัน ซึ่งไม่ได้มีการบดเคี้ยวอาหารตามปกติแต่อย่างใด โดยมักเกิดในช่วงที่กำลังนอนหลับ อาจเกิดเสียง หรือไม่มีเสียงให้ได้ยินก็ได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนอนกัดฟัน ที่อาจพบได้
- ความเครียด หวาดกลัว และวิตกกังวล
- ฟันซ้อนเก
- ฟันโยก หรือเป็นโรคปริทันต์
- ฟันล้มเอียง หรือยื่นยาวออกมา
- ฟันปลอมที่การสบฟันไม่สัมพันธ์กับฟันธรรมชาติ
- การรับประทานยาที่ช่วยปรับสารในสมอง
- โรคบางอย่าง เช่น Parkinson ที่ทำให้กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ
- ความผิดปกติของการนอนหลับอื่นๆ (Sleep disorders)
อาการที่พบได้ หากเป็นโรคนอนกัดฟัน
- ฟันสึก เป็นรอยมันวาว
- ฟันโยก เนื่องจากมีแรงกดที่ฟันมากกว่าปกติ
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า แก้ม หน้าหู และต้นคอ โดยมักรู้สึกปวดเมื่อย ตึง หลังตื่นนอนใหม่
- กล้ามเนื้อบดเคี้ยว ที่บริเวณแก้มใหญ่ขึ้น
- มีเสียงคลิก ที่บริเวณข้อต่อขากรรไกรเวลาอ้า หรือหุบปาก
- ฟันหัก หรือฟันแตก
- มีปุ่มกระดูกด้านในของขากรรไกร โดยเฉพาะขากรรไกรล่าง
การรักษา สามารถทำได้โดย
- ควรเข้าปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อขอคำปรึกษา คำแนะนำ และการรักษาที่เหมาะสม
- พิจารณาใส่เฝือกสบฟัน
- การรักษาวิธีอื่น ๆ เพื่อลดความเจ็บปวดและความไม่สบายที่เกิดขึ้น
- ฝึกการผ่อนคลายทั้งร่างกาย และจิตใจ เช่น การฟังเพลงเบา ๆ ออกกำลังกาย หรือทำสมาธิ
เรียบเรียงโดย เภสัชกร ณัฐพล พานทองคำ
ที่มา: คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล