ช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับการโฆษณา และการขายแพ็คเกจยาสำหรับการรักษาโรคโควิด-19 เป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้คนทั่วไปหลงเชื่อ และมีการติดต่อเพื่อทำการซื้อขาย หรือบางคลินิกก็มีการสั่งจ่าย และโฆษณาเช่นเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง และการโฆษณายายังมีความผิดทางกฎหมายอีกด้วย เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง มีค่า นิวส์ จึงนำข้อมูลมาให้
โดยนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวพบการขายยาโมลนูพิราเวียร์ทางสื่อออนไลน์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบช่องทางที่มีการขายยาออนไลน์ทุกช่องทาง ได้ดำเนินการสั่งระงับโฆษณาและดำเนินคดีโฆษณาขายยาผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มตลาดร้านค้าออนไลน์ (E-marketplace) เพื่อไม่ให้เป็นช่องทางที่ใช้ส่งต่อยาผิดกฎหมายให้ผู้บริโภค และจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่ลักลอบขายในทุกช่องทาง รวมไปถึง อย. ยังได้ร่วมกับกรมควบคุมโรคในการเฝ้าระวังการนำเข้ายาตามด่านต่าง ๆ เพื่อสกัดไม่ให้มีการนำเข้ายาผิดกฎหมายหรือยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทาง อย. เข้ามาในประเทศอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านคลองหลวง ที่ได้รับการสนับสนุนยาโมลนูพิราเวียร์จากทางภาครัฐ ว่ามีการจ่ายยาตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์อย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งสถานพยาบาลได้มีการโฆษณาแพคเกจรักษาโรคโควิด-19 หลายรูปแบบให้ผู้ป่วยเลือกรับบริการ บางแพคเกจมีการโฆษณาด้วยข้อความว่าจะมีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ให้ผู้ป่วยด้วย แต่ยาดังกล่าวเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ ซึ่งสถานพยาบาลไม่สามารถโฆษณาได้นอกจากได้รับอนุญาต แต่จากการตรวจสอบไม่มีการขออนุญาตแต่อย่างใด กรณีนี้ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้มีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไปแล้ว
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีการสำรองยาโมลนูพิราเวียร์ในจำนวนที่เพียงพอสำหรับการรักษาโรคติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทย โดยที่สำคัญ ขอให้ประชาชนรับยาจากแหล่งที่ถูกต้อง เช่น โรงพยาบาลของรัฐ และเอกชนที่ได้รับจัดสรรยาจากภาครัฐ ไม่ควรซื้อยาผ่านช่องทางสื่อออนไลน์
โดยยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ และแพทย์จะมีการประเมินอาการและสั่งจ่ายตามข้อบ่งใช้ตามแนวทางการรักษาโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจาก
- ยาโมลนูพิราเวียร์ยังมีข้อควรระวังในการใช้ยา
- ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์
- ต้องมีการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยาอย่างใกล้ชิดด้วย
ซึ่งหากผู้ป่วยสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ทางออนไลน์มากินเองอาจได้รับยาปลอม ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งไม่ปลอดภัย ต่อตัวผู้ป่วยเอง และการใช้ยานี้อย่างไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ไม่สามารถใช้ยาโมลนูพิราเวียร์รักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้อีกต่อไป
หากผู้บริโภคพบเห็นการขายยาโมลนูพิราเวียร์ทางช่องทางออนไลน์ใด ๆ ขอให้แจ้งได้
- ทางสายด่วน อย. 1556
- อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th
- Line @FDAThai
- Facebook : FDAThai หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา