นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 สิงหาคม 2565 เห็นชอบ ร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2566-2570 ซึ่งร่างแผนปฏิบัติการฉบับนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี รวม 101 โครงการ มีค่า นิวส์ สรุปมาฝากค่ะ
โครงการดังกล่าว กรอบวงเงินรวม 2,845.55 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณจากภาครัฐ 1,535.55 ล้านบาท และภาคเอกชน 1,310 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายพัฒนาการเกษตร แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1.เป้าหมายรวม เช่น ยกระดับรายได้เกษตรกรภายในปี 2580 และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในสาขาเกษตรเพิ่มขึ้น
2.เป้าหมายระดับจังหวัด เช่น จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงอุตสาหกรรม จังหวัดชลบุรี เป็นแหล่งพืชพลังงาน และ จังหวัดระยอง เป็นแหล่งรวบรวมผลไม้และอาหารทะเลสด
3.เป้าหมายคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพและดำเนินการได้ทันที ซึ่งประกอบด้วย 5 คลัสเตอร์ ได้แก่
3.1 ผลไม้ เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง เช่น ทุเรียน มังคุด มะม่วง ในพื้นที่จังหวัดระยองและฉะเชิงเทรา
3.2 ประมงเพาะเลี้ยง เน้นการเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีการผลิตและสร้างเศรษฐกิจใหม่ เช่น กุ้งก้ามกราม กุ้งขาว และปลานิล ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและระยอง
3.3 พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ เน้นยกระดับผลผลิตมันสำปะหลังให้มีคุณภาพและมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่งเสริมการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าสินค้า ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี
3.4 พืชสมุนไพร เน้นการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชาย กัญชงและกัญชา ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและชลบุรี
3.5 เกษตรมูลค่าสูง เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง เช่น เนื้อโคพรีเมียมคุณภาพสูงและไข่ไก่อินทรีย์ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
สำหรับการขับเคลื่อนร่างแผนปฏิบัติการ จะดำเนินการภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับผลิตภาพการผลิตโดยเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ จำนวน 34 โครงการ วงเงิน 596.21 ล้านบาท
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและการตลาด จำนวน 24 โครงการ วงเงิน 845.54 ล้านบาท
ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภาคเกษตรและสร้างบรรยากาศเข้าสู่ธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่ จำนวน 43 โครงการ วงเงิน 1,403.8 ล้านบาท โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะแรก (พ.ศ.2566-2567) เน้นเตรียมการปรับโครงสร้างการพัฒนาการเกษตรด้วยเทคโนโลยีการเกษตรและดำเนินการพัฒนาคลัสเตอร์สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ
ระยะกลาง (พ.ศ.2568-2570) เน้นการขับเคลื่อนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่ากับภาคเกษตร พร้อมทั้งต่อยอดคลัสเตอร์การเกษตร เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายสมัยใหม่ และระยะถัดไป (พ.ศ.2571 เป็นต้นไป) มุ่งเน้นให้เกิดนวัตกรรมทั้งในการผลิตและการพัฒนาสินค้า ซึ่งต้องตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาดสินค้าเกษตรและตอบสนองต่อความต้องการอาหารรูปแบบใหม่ ๆ
ประโยชน์ที่จะได้รับจากร่างแผนปฏิบัติการนี้ เป็นการ ปรับโครงสร้างการเกษตรในพื้นที่ EEC ให้เชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ และเป็นต้นแบบการพัฒนาภาคการเกษตรในประเทศไทย ที่เน้นการประยุกต์และพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดสินค้าเกษตรไทย และเกิดการกระจายรายได้ไปสู่เกษตรกร