น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 6 กันยายน 2565 เห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ สำหรับ “โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรมเมืองเก่าสงขลา” (Culture Smart City: Songkhla Old Town) วงเงินงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565-2570 จํานวน 60 ล้านบาท
กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีนโยบายที่จะผลักดันและส่งเสริมงานวัฒนธรรมเชิงพื้นที่จังหวัดสงขลาเพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม (Culture Smart City) เนื่องจากบริเวณเมืองเก่าและบริบทโดยรวมของเมืองสงขลา มีต้นทุนทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจน ทั้งสถาปัตยกรรม ถนน อาคารบ้านเรือนทางประวัติศาสตร์
คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่ยังคงมีกลิ่นอายของชุมชนที่ยังเหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ย่านการค้าสมัยโบราณที่มีอายุมากกว่า 200 ปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสินทรัพย์ทางกายภาพและเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องได้ นับเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมในการพัฒนาเมืองสงขลาให้เป็นเมืองต้นแบบด้านวัฒนธรรม ที่สามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้
โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบฯ จะมีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น
- ตามรอยประวัติศาสตร์ศิลป์สุวรรณภูมิสงขลาเมืองเก่า สู่การเป็นเมืองต้นแบบด้านศิลปวัฒนธรรม
- การจัดงานเทศกาลศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ เชื่อมโยงจากรุ่นสู่รุ่น New Gen Connected Art and Culture Festival
- กิจกรรมส่งเสริม Soft Power ในระดับนานาชาติ ณ Songkhla Pavilion นครเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี
- การพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือ Treasure Thailand รูปแบบของการให้บริการออนไลน์สําหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ทั้งนี้ ครม.ได้เสนอแนะให้กระทรวงวัฒนธรรม จัดทำขั้นตอนกระบวนการในการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการที่ชัดเจน รวมถึงแนวทางในการพัฒนาและต่อยอดไปสู่จังหวัดอื่น ๆ อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนประกอบกับในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยมีหลายจังหวัดที่มีพื้นที่ ซึ่งมีศักยภาพและสามารถพัฒนาเป็นเมืองต้นแบบได้
ดังนั้น จึงเห็นควรให้กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลที่สําคัญ และมีความโดดเด่นของแต่ละจังหวัดทั้งในมิติเชิงวัฒนธรรมเศรษฐกิจและสังคมรวมถึงบริบทแวดล้อมที่สําคัญอื่น เพื่อนำมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลและหาแนวทางในการส่งเสริมและผลักดันพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพให้เป็นเมืองต้นแบบของแต่ละภาคต่อไป รวมถึงให้กระทรวงวัฒนธรรม หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันเดิมของกระทรวงวัฒนธรรม หรือแอปพลิเคชันของหน่วยงานอื่นที่มีการให้บริการอยู่ในปัจจุบัน เช่น TAGTHAI (ทักทาย) และแอปฯ เที่ยวเท่ ๆ เสน่ห์เมืองไทย ตอบสนองต่อการใช้งานในทุกมิติ
ที่มา: รัฐบาลไทย