กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถานการณ์ โรคพิษสุนัขบ้า พบได้ตลอดปี ปีนี้พบเสียชีวิตแล้ว 1 ราย พร้อมย้ำเตือนหากถูกสุนัข หรือแมว กัด ข่วน ให้รีบปฐมพยาบาลโดยล้างแผลด้วยน้ำสะอาดฟอกสบู่หลาย ๆ ครั้ง เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อ “ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า” ให้เร็วที่สุด ป้องกันเสียชีวิต โดยวัคซีนชนิดนี้สามารถฉีดได้ทันที ไม่กระทบต่อการฉีดวัคซีนโควิดแต่อย่างใด
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สุนัขยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่เชื้อ ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือเลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่ติดเชื้อ สัตว์ที่พบบ่อยที่สุดคือ สุนัข รองลงมาคือ แมวและวัว ซึ่งผู้ที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ จะแสดงอาการ ดังนี้
1.เริ่มแรกจะมีไข้ต่ำ ๆ
2.มีอาการคัน มักเริ่มจากบริเวณแผลที่ถูกกัด แสบ ๆ ร้อน ๆ แล้วลามไปส่วนอื่น บางคนคันมากจนกลายเป็นแผลอักเสบ
3.เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย กระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม
4.พูดเพ้อเจ้อ กระวนกระวาย หนาวสั่น ตามักเบิกโพลงบ่อย ๆ บางครั้งเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคทางจิต
5.มีอาการกลืนลำบาก น้ำลายไหล กล้ามเนื้อกระตุก
6.แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก อาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
หากประชาชนถูกสุนัข หรือแมวกัดข่วน ให้รีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยเร็ว ถึงแม้ว่าแผลจะเล็กน้อย หรือจะเพิ่งฉีดวัคซีนโควิด-19 มา หรือมีนัดฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็ตาม ก็สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ทันที ไม่ต้องรอทิ้งช่วงเวลา ประชาชนไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด
สำหรับวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ควรปฏิบัติตามขั้นตอนที่มีค่า นิวส์ สรุปมาให้ดังนี้
1.ให้รีบล้างแผลทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่หลาย ๆ ครั้ง เพื่อล้างเชื้อออกจากแผลให้ได้มากและเร็วที่สุด
2.ให้เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
3.รีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้เร็วที่สุด
4.แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อการสังเกตอาการและกักโรค
ทั้งนี้ วิธีการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทำได้ไม่ยาก ขอให้ประชาชนนำสุนัข แมว ที่อายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และฉีดกระตุ้นทุกปี ในต่างจังหวัดสามารถรับการฉีดที่หน่วยบริการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าฟรีในพื้นที่ และในพื้นที่กทม. มีบริการที่ศูนย์บริการฉีดวัคซีน 8 แห่ง ได้แก่
1.ศูนย์บริการสาธารณสุข 23 สี่พระยา
2.ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี
3.ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง
4.ศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน
5.ศูนย์บริการสาธารณสุข 33 วัดหงส์รัตนาราม
6.ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วง นุชเนตร
7.ศูนย์บริการสาธารณสุข 30 บางกอกน้อย
8.กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าดินแดง
สอบถามข้อมูล : สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ที่มา: กรมควบคุมโรค