จากการศึกษาข้อมูลทางด้านการวิจัยภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปยา Evusheld ที่จะมีการนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งพบว่ามีผลการรักษาไปในทิศทางที่ดี ทำให้เป็นประเด็นทางการแพทย์ที่น่าสนใจไปทั่วโลก มีค่า นิวส์ จึงรวบรวมข้อมูลมาอัพเดทไว้ที่นี่
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long Acting Antibody : LAAB) ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหา LAAB ยี่ห้อ Evusheld ให้กลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำและร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยวัคซีน เพื่อปกป้องกลุ่มเปราะบางก่อนการสัมผัสเชื้อ (pre-exposure prophylaxis) โดยขณะนี้ฉีดไปแล้วกว่า 3,400 ราย โดย LAAB สามารถออกฤทธิ์ลบล้างเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์กลายพันธุ์หลายตัว ซึ่งกลุ่มเป้าหมายระยะแรก ได้แก่
- ผู้ป่วยไตวายระยะเรื้อรังที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต (ฟอกไต)
- ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
- ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก
- กำลังพิจารณาเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นต้องได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วย LAAB เช่น
– ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดและฉายแสง
– ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องได้รับยากดภูมิขนาดสูง
– ผู้ป่วยโรคข้อที่ต้องรักษาด้วยยากดภูมิ
– ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำโรคอื่น ๆ
นอกจากนี้สำหรับการนำมาใช้หลังรับเชื้อโควิด 19 ล่าสุดมีการศึกษาวิจัยโครงการ TACKLE Phase 3 ที่ตีพิมพ์ใน The Lancet Respiratory Medicine ออกมาแสดงผลการศึกษา LAAB ยี่ห้อ Evusheld ขนาด 600 มิลลิกรัม ฉีดในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก และมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต จำนวน 910 ราย ในสถานพยาบาล 95 แห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น พบว่า การให้ภายใน 7 วันหลังมีอาการ สามารถลดการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิตได้ร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบกับการให้ยาหลอก และหากให้ยาเร็วขึ้นอีกภายใน 5 วันและ 3 วันหลังมีอาการ จะลดการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิตได้ร้อยละ 67 และร้อยละ 88 ตามลำดับ
นอกจากนี้การศึกษาวิจัยแบบสุ่มที่มีการควบคุม (RCT) พบว่า การให้ Evusheld ขนาด 600 มิลลิกรัมในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีอาการมาไม่เกิน 12 วัน จำนวน 1,417 ราย จากสถานพยาบาล 81 แห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป อูกันดา และสิงคโปร์ พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับยา Evusheld มีอัตราการเสียชีวิตลดลง ร้อยละ 30 ซึ่งแสดงถึงผลดีของภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปยี่ห้อ Evusheld ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด
โดยขณะนี้
- กระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น อนุมัติให้ใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปยี่ห้อ Evusheld เพื่อการรักษาผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงจากการติดโควิด-19 ในวันที่ 30 สิงหาคม 2565
- European Medicines Agency’s (EMA) ของยุโรป อนุมัติให้ Evusheld ใช้ในการรักษาผู้โควิด-19 ที่เริ่มมีอาการในระยะแรก ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง ในวันที่ 20 กันยายน 2565
- ประเทศไทยกำลังจะยื่นเอกสารขออนุญาตขึ้นทะเบียนภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Evusheld เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่งติดเชื้อในระยะแรก และมีความเสี่ยงสูงตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์