นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 21 กันยายน 2565 เห็นชอบแผนการขับเคลื่อน การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ โดยได้พิจารณาองค์ประกอบการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 5 ด้าน และการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ดังนี้
1.การให้สิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกการลงทุน
2.การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและบริหาร
3.การวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี
4.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
5.การพัฒนาแรงงานและสนับสนุนผู้ประกอบการ
พร้อมทั้งกำหนดขอบเขตพื้นที่ กิจการเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย
1.เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ได้แก่
– จังหวัดเชียงราย
– จังหวัดเชียงใหม่
– จังหวัดลำพูน
– จังหวัดลำปาง
2.เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก ได้แก่
– จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
– จังหวัดนครปฐม
– จังหวัดสุพรรณบุรี
– จังหวัดกาญจนบุรี
3.เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– จังหวัดนครราชสีมา
– จังหวัดขอนแก่น
– จังหวัดอุดรธานี
– จังหวัดหนองคาย
4.เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
– จังหวัดชุมพร
– จังหวัดระนอง
– จังหวัดสุราษฎร์ธานี
– จังหวัดนครศรีธรรมราช
ความก้าวหน้าการด้านการสร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน 4 ภาค (ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้) มูลค่าการลงทุนในปี 2564 จำนวน 118,637 ล้านบาท
มีการดำเนินโครงการสำคัญ ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การยกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การใช้ประโยชน์อุทยานวิทยาศาสตร์และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และการส่งเสริมและสนับสนุนด้านวิจัยและพัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่วนเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง ได้แก่
1.ตาก
2.มุกดาหาร
3.สระแก้ว
4.ตราด
5.สงขลา
6.หนองคาย
7.นราธิวาส
8.เชียงราย
9.นครพนม
10.กาญจนบุรี
เกิดการลงทุนภาคเอกชน (ปี 2558 – เมษายน 2565) จำนวน 36,882 ล้านบาท ด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรแล้วเสร็จร้อยละ 89%
ผลสำเร็จของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้การกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่บริเวณชายแดน รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลพร้อมสนับสนุนเพื่อให้มีการเข้ามาลงทุนในพื้นที่นั้น ๆ
อีกทั้งยังมีกฎหมาย มาตรการ หรือสิทธิพิเศษต่างๆ ที่จูงใจนักลงทุนให้เข้ามาทำธุรกิจในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษอีกด้วย โดยสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จะเป็นในเรื่องของกฎระเบียบที่มีความผ่อนปรนเป็นพิเศษ รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และอื่น ๆ อีกมากมาย