นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 27 กันยายน 2565 เห็นชอบให้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จ่ายเงินสวัสดิการพิเศษให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่
1.ยะลา
2.ปัตตานี
3.นราธิวาส
4.จำนวน 5 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ, สะเดา, เทพา, นาทวี, และสะบ้าย้อย
รวม 248 คน อัตราคนละ 5,000 บาทต่อเดือน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยใช้จ่ายจากเงินรายได้ของ กยท. เอง และให้มีผลตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดชายแดนภาคใต้
อัตราเงินสวัสดิการพิเศษครั้งนี้ เป็นการปรับเพิ่มจากสวัสดิการพิเศษเดิมที่การยางแห่งประเทศไทยจ่ายให้แก่พนักงานและลูกจ้างหน่วยงานของตนที่มาจากการควบรวม 3 หน่วยงาน ในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ
1.สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เดิมได้รับ 3,500 บาทต่อเดือน ปรับเพิ่มเป็น 5,000 บาทต่อเดือน
2.สถาบันวิจัยยาง (สวย.) เดิมได้รับ 2,500 บาทต่อเดือน ปรับเพิ่มเป็น 5,000 บาทต่อเดือน
3.องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) เดิมไม่ได้รับ เนื่องจากไม่มีภารกิจเสี่ยงภัยในพื้นที่ ปรับเพิ่มเป็น 5,000 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้ แม้การปรับเพิ่มสวัสดิการพิเศษ จะทำให้ กยท. มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 376,000 บาท หรือปีละ 4,512,000 บาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างความเท่าเทียมให้กับพนักงานและลูกจ้างของ กยท. โดยได้รับเงินสวัสดิการพิเศษในอัตราเดียวกัน
ที่ผ่านมา ครม.เคยมีมติเห็นชอบปรับเพิ่มสวัสดิการหรือค่าตอบแทนพิเศษให้แก่พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดชายแดนใต้หลายหน่วยงาน อาทิ
1.บริษัทไปรษณีย์ไทย (มติ ครม. 17 ก.ค. 2550) ปรับเพิ่มเป็น 5,000 บาทต่อเดือน
2.การเคหะแห่งชาติ (มติ ครม. 3 ก.ค. 2555) ปรับเพิ่มเป็น 5,000 บาทต่อเดือน
3.การประปาส่วนภูมิภาค (มติ ครม. 14 ก.พ. 2565) ปรับเพิ่มเป็น 7,000 บาทต่อเดือน