น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 ตุลาคม 2565 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร สำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตสุกรตั้งแต่ระดับฟาร์ม สร้างความมั่นใจถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่สำคัญในสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มศักยภาพในการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์สุกรของประเทศไทย
ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร เป็นมาตรฐานบังคับ มีสาระสำคัญ คือ กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรให้แก่ผู้ประกอบการที่เลี้ยงสุกรขุนตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป และเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ ตั้งแต่ 95 ตัวขึ้นไป เช่น
1.สถานที่ตั้งของฟาร์มต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีเส้นทางคมนาคม ที่สามารถขนส่งสุกร อาหารสัตว์ เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้สะดวก
2.ไม่อยู่ในบริเวณที่เกิดน้ำท่วมขัง มีแหล่งน้ำที่สะอาดและใช้ได้เพียงพอ
3.มีพื้นที่ขนาดเพียงพอและเหมาะสมไม่หนาแน่น จนก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ
4.สวัสดิภาพสัตว์ มีคู่มือการจัดการฟาร์ม ที่แสดงให้เห็นรายละเอียดการปฏิบัติงานที่สำคัญภายในฟาร์ม
กำหนดวันใช้บังคับตามขนาดและประเภทของฟาร์มสุกร ดังนี้
1.ฟาร์มที่เลี้ยงสุกรขุนตั้งแต่ 500-1,499 ตัว หรือ เลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ตั้งแต่ 95-119 ตัว ซึ่งจัดเป็นฟาร์มขนาดกลาง ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2.ฟาร์มที่เลี้ยงสุกรขุนตั้งแต่ 1,500 ขึ้นไป หรือเลี้ยงแม่พันธุ์สุกรตั้งแต่ 120 ตัวขึ้นไป จัดเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
กฎกระทรวงฉบับนี้ ไม่ใช้บังคับสำหรับฟาร์มสุกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการเลี้ยงระบบปศุสัตว์อินทรีย์และหมูหลุมที่รับรองโดยกรมปศุสัตว์
การกำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตรใดเป็นมาตรฐานบังคับ จะส่งผลให้ผู้ที่จะผลิต ส่งออก หรือนำเข้าสินค้าเกษตรนั้นได้ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับในอนุญาตเป็นผู้ผลิตผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรนั้นก่อน รวมทั้งต้องมีใบรับรองตามมาตรฐานบังคับจากผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน โดยหากไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด เช่น
1.ปรับไม่เกิน 300,000 บาท ในกรณีเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรที่เป็นมาตรฐานบังคับโดยไม่มีใบอนุญาต
2.ปรับไม่เกิน 500,000 บาท ในกรณีที่ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรที่เป็นมาตรฐานบังคับไม่มีใบรับรองมาตรฐาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า ปัจจุบันมีผู้เลี้ยงสุกรมากกว่า 160,000 รายทั่วทุกภูมิภาคของไทย มีทั้งที่เลี้ยงไว้เพื่อการบริโภคและการพาณิชย์ ซึ่งผู้ประกอบการที่เลี้ยงสุกรในเชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่ มีความเข้าใจและมีความพร้อมในการดำเนินการตามมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จึงได้จัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรขึ้น และได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียก่อนออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานบังคับดังกล่าว