ในช่วงเดือนตุลาคม แม้ว่าจะเป็นช่วงรอยต่อระหว่างฤดูฝน และฤดูหนาว แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีฝนตกในบางพื้นที่ ทำให้มีน้ำท่วมขังและชื้นแฉะในหลายพื้นที่ ซึ่งทำให้ผู้คนไม่อาจหลีกเลี่ยงการเดินในบริเวณที่มีการท่วมขังได้ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเชื้อของโรคหลายโรค โดยหนึ่งในเชื้อก่อนโรคเหล่านั้น คือเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคเมลิออย์ มีค่า นิวส์ จึงจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับโรคนี้กัน
โรคเมลิออยด์ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ในดิน น้ำท่วมขัง และบริเวณที่มีการชื้นแฉะสูง ซึ่งพบว่ามีคำหลายกลุ่มที่มีกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคดังกล่าวได้ง่าย เช่น กลุ่มเกษตรกร หรือผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสดินและน้ำโดยตรง รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง และโรคธาลัสซีเมีย จะมีความเสี่ยงป่วยโรคเมลิออยด์สูง เป็นต้น
สาเหตุการติดเชื้อก่อโรคเมลิออยด์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดินและในน้ำ ซึ่งสามารถติดต่อได้ผ่านทาง
- การดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ
- ทางผิวหนัง
- การสูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนเข้าไป
โดยหลังติดเชื้อประมาณ 1-21 วันจะมีอาการเจ็บป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปีขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน
อาการของโรคเมลิออยด์ ดังนี้
- มีไข้สูง (มักจะมีอาการเริ่มจากไข้เป็นหลัก)
- มีฝีที่ผิวหนัง
- มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ
- อาจติดเชื้อเฉพาะที่หรือติดเชื้อแล้วแพร่กระจายทั่วทุกอวัยวะและเสียชีวิตได้
วิธีการป้องกันโรคเมลิออยด์ สามารถทำได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือชุดลุยน้ำ หลังสัมผัสดินและน้ำให้ทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที
- ทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาด หรือต้มสุกทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่น และการอยู่ท่ามกลางสายฝน
- หากมีอาการไข้สูง ร่วมกับมีประวัติการสัมผัสดินและน้ำ ให้รีบพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ที่มา: สำนักนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข