ตะคริว เป็นอะไรที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศ ทุกวัย และทุกเวลา โดยไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเกิดขึ้นตอนไหน ไม่ว่าจะตอนนอน ตอนว่ายน้ำ ตอนออกกกำลังกาย หรือตอนกำลังวิ่งจ๊อกกิ้งในสวนสาธารณะ ซึ่งจะดีกว่าไหมครับ ถ้าสมมติว่าเราสามารถเตรียมตัวรับมือล่วงหน้าได้ หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิด และหากเกิดอาการขึ้นมาจริง ๆ ต้องทำยังไง เพื่อลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อที่เกิดตะคริว ด้วยเหตุผลนี้แหละครับ ที่ทำให้ มีค่า นิวส์ ไปรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตะคริวมาไว้ที่นี่ เพราะไม่อยากให้ใครต้องเจ็บตัวจากตะคริวที่เกิดขึ้น
ตะคริว คือ ภาวะที่มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง จนเป็นก้อนเนื้อบริเวณนั้น โดยทั่วไปอาการตะคริวมักเกิดไม่เกินสองนาที แต่ในบางรายอาจเกิดได้นานถึงห้านาที หรือมากกว่านั้น และบางรายอาจเกิดบ่อยจนทำให้เกิดความทุกข์ทรมานได้ ซึ่งตะคริวมักเกิดในผู้สูงอายุ และเกิดในตอนกลางคืน แต่ก็อาจเกิดในคนอายุน้อยและเกิดได้ทุกเวลา ถึงแม้อาการจะไม่ส่งผลเสียถึงแก่ชีวิต แต่อาจทำให้เกิดอันตรายได้ หากเกิดระหว่างว่ายน้ำ หรือขับรถ
สาเหตุการเกิดตะคริว ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีหลายทฤษฎี ซึ่งอาจเกิดได้จาก
- กล้ามเนื้อและเอ็นที่ไม่ได้มีการยืดตัวบ่อย ๆ หรือทำงานหนักมากเกินไประหว่างการทำกิจกรรม ทำให้เกิดการหดเกร็ง
- ระบบไหลเวียนเลือดที่ไปยังกล้ามเนื้อเกิดการหยุดเฉียบพลัน หรือไม่เพียงพอ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- เส้นประสาทเกิดการทำงานผิดปกติในขณะนอนหลับ
- เกิดได้จากโรคบางโรค เช่น โรคตับ และโรคไต
- ร่างกายเกิดสภาวะผิดปกติ เช่น ร่างกายขาดเกลือแร่จำพวกแมกนีเซียม แคลเซียม และโปแตสเซียม ร่างกายมีสารพิษ หรือเกิดการติดเชื้อ
- เกิดจากการใช้ยาบางกลุ่ม เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดไขมันในเลือด และยาลดความดันโลหิตบางชนิด
การดูแล หากเป็นตะคริว
- ยืดกล้ามเนื้อที่เกิดตะคริว ให้คลายออกอย่างช้า ๆ ประมาณ 1-2 นาที หากยังไม่ดีขึ้น ให้ค่อย ๆ นวดอย่างเบามือเรื่อย ๆ เช่น หากเป็นตะคริวที่น่อง ให้เกร็งปลายเท้าจิกชี้ลงพื้นดิน จากนั้นดันปลายเท้าให้กระดกขึ้นช้า ๆ โดยห้ามกระตุก หรือกระชากรุนแรงอย่างรวดเร็ว เพราะจะเจ็บปวดจนกล้ามเนื้อฉีกขาดได้
- หากเป็นสตรีตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์เพื่อตรวจครรภ์ตามกำหนด และแจ้งแพทย์ เพื่อที่แพทย์จะได้วินิจฉัยหาสาเหตุ และทำการรักษาต่อไป เนื่องจากอาการตะคริวอาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
- หากเกิดขึ้นระหว่างนอนหลับให้เปลี่ยนท่านอน และยืดขาตรงกระดกปลายเท้าประมาณ 5 วินาที ทำวน 5-10 รอบ ก่อนจะนวดบริเวณดังกล่าวจนกว่าจะหาย
การป้องกันการเกิดตะคริว
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และมีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียม เช่น ปลา และนม
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ และงดการดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน
- ยืดเส้นยืดสายกล้ามเนื้อก่อนเริ่มออกกำลังกาย
- ถ้าออกกำลังกายหนัก ควรดื่มน้ำและเกลือแร่ทดแทนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หลังการทานอาหาร
- ระมัดระวังการยกของหนัก หรือการทำกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อหนักอย่างต่อเนื่อง
- สวมรองเท้าที่พอเหมาะ และอาจใส่ถุงเท้าตอนนอนเพื่อป้องกันการเกร็งของเท้า
- ผู้สูงอายุควรค่อยขยับแขนขาช้า ๆ และหลีกเลี่ยงอากาศเย็นมาก ๆ
- สตรีตั้งครรภ์ให้กินอาหารที่มีโพแทสเซียม และแมกนีเซียมให้เพียงพอ เช่น ผักโขม หรือลูกเกด เป็นต้น
- นำหมอนรองขาให้สูงขึ้นประมาณ 10 เซนติเมตร (สำหรับผู้ที่เสี่ยงเป็นตะคริวตอนนอน)
เรียบเรียงโดย เภสัชกร ณัฐพล พานทองคำ
ที่มา: โรงพยาบาลเพชรเวช และเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล