โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงเป็นอีกหนึ่งมะเร็งที่พบได้มากเป็นอันต้น ๆ ของหลายประเทศทั่วโลก ทั้งนี้อาจเพราะว่าปัจจัยในการดำเนินชีวิต หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมการบริโภค ที่ส่งผลต่อผู้คนโดยที่ไม่ทันได้สังเกตเห็น ทำให้ มีค่า นิวส์ จึงนำสาระเกี่ยวกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มาสรุปรวมไว้ที่นี่
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เริ่มต้นจากการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ (polyp) และพัฒนาจนเป็นมะเร็งโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี โดยจะไม่มีอาการในระยะเริ่มแรกของโรค แต่จะมีอาการก็ต่อเมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจนถึงระยะสุดท้าย ส่งผลทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรง
- พฤติกรรมการบริโภค เช่น อาหารไขมันสูง อาหารฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น การกินอาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม อาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ และเนื้อสัตว์แปรรูป
- การสูบบุหรี่
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การขาดการออกกำลังกาย
- การมีภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน
- มีประวัติครอบครัวหรือตนเองเป็นติ่งเนื้อในลำไส้
อาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่
- การถ่ายอุจจาระผิดปกติ
- มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย
- ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง ถ่ายไม่สุด
- ถ่ายเป็นมูกหรือ มูกปนเลือด หรืออาจถ่ายเป็นเลือดสด
- ขนาดลำอุจจาระเล็กลง
- มีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด จุกเสียด
มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่สามารถตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ ส่งผลให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคสูง ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงโดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระปีละครั้ง หากผิดปกติควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ กรณีพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อวินิจฉัยต่อไป
ที่มา: สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมการแพทย์