ล่าสุดกรมอนามัย กระทรวงสาธารณุสุขได้เปิดเผยอัตราการเกิดโรคไตของประเทศไทยที่มีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงแนะนำให้ลดปริมาณการรับประทานเกลือ หรือโซเดียม แต่ประชาชนส่วนใหญ่อาจจะยังสงสัยว่า แล้วปริมาณเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอต่อวัน และจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องคำนวณ หรือรับประทานอาหารอย่างไรในแต่ละวัน และเพื่อตอบคำถามเหล่านั้น มีค่า นิวส์ จึงสรุปมาไว้ให้ที่นี่
โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข แนะให้ทานอาหาร หวาน มัน เค็ม ในอัตราส่วน 6:6:1 หรือ น้ำตาล และน้ำมันหรือไขมัน ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และเกลือ ไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน (ประมาณ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน) ทั้งนี้การกินเกลือในแต่ละวันสามารถพิจารณาได้ โดยเทียบปริมาณโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม ดังนี้
- น้ำปลา 4 ช้อนชา
- ซีอิ๊วขาว 6 ช้อนชา
- ซอสปรุงรส 6 ช้อนชา
- ซอสหอยนางรม 4 ช้อนโต๊ะ
อย่างไรก็ตาม แนะนำให้
- เช็กเครื่องปรุงอาหาร โดยปกติการปรุงอาหาร มักจะใช้เครื่องปรุงหลากหลายชนิดเพื่อความอร่อยและกลมกล่อม ซึ่งอาจทำให้มีปริมาณเกลือต่อวันเกินได้ แนะนำให้คำนวณดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น
- อ่านฉลากโภชนาการ ด้วยการสังเกตปริมาณโซเดียมบนบรรจุภัณฑ์ ทั้งแบบที่เป็นฉลาก GDA (Guideline Daily Amount) หรือฉลากหวาน มัน เค็ม เป็นฉลากนอกกรอบขนาดเล็กที่จะแสดงข้อมูลโภชนาการ โดยแสดงค่าพลังงาน (กิโลแคลอรี) น้ำตาล (กรัม) ไขมัน (กรัม) และโซเดียม (มิลลิกรัม) มาแสดงที่ฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ และจะระบุค่าร้อยละของที่ร่างกายให้ได้รับต่อวันด้วย เช่น หากบนฉลากระบุปริมาณโซเดียม 500 มิลลิกรัม คิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณที่ร่างกายได้รับต่อวัน ดังนั้น หากกินอาหารนั้นจนหมดร่างกายจะเหลือปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับอีกเพียง 1,500 มิลลิกรัม
นอกจากนี้การระบุปริมาณโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม มีความชัดเจนในทางวิชาการเพื่อดูแลและป้องกันโรค สำหรับประชาชนการนับปริมาณโซเดียมที่ได้รับจากอาหารในแต่ละวันอาจเป็นเรื่องสลับซับซ้อน เช่น โซเดียมแฝงในอาหารบางชนิดที่ไม่สามารถระบุได้ หรือการปรุงอาหารในปริมาณมาก แบ่งกินหลายมื้อ หรือแบ่งกินหลายคน ก็จะช่วยแบ่งปริมาณโซเดียมปริมาณโซเดียมที่ได้รับออกไป และควรหันมาใส่ใจในการปรับพฤติกรรมการบริโภค ลดการกินอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม ลดการปรุงอาหารรสจัด และเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง รวมทั้งเพิ่มการกินผักและผลไม้ เพิ่มการออกกำลังกายเพื่อการมีสุขภาพที่ดี