โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ เตือน ภาวะกระดูกสันหลังคด เป็นภาวะที่กระดูกสันหลัง มีการคดเอียงออกทางด้านข้างตั้งแต่ 10 องศาขึ้นไป มักพบมากในช่วงวัยรุ่นหรือมีอายุระหว่าง 10-18 ปี (Adolescent idiopathic scoliosis (AIS)) และเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในอัตราส่วน 10 : 1 ร้อยละ 80 ของภาวะนี้ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดได้แน่ชัด บางกรณีพบในผู้ป่วยภาวะสมองพิการ ผู้ป่วยโรคระบบเส้นประสาทและกล้ามเนื้อผิดปกติ
ปัจจัยเสี่ยง คือ
1.เพศหญิงและอายุ โดยเฉพาะช่วงที่กำลังจะเข้าสู่วัยรุ่น
2.การออกกำลังกายอย่างหนัก แต่ก็ไม่พบว่าเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะกระดูกสันหลังคดที่แน่ชัด
อาการ
1.ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ แต่ตรวจพบเจอโดยบังเอิญ
2.มีส่วนน้อยเท่านั้น ที่อาจมีอาการปวดหลัง
3.บางรายที่มีการคดเอียงของกระดูกค่อนข้างมาก แนวกระดูกสันหลังไม่ตรง ระดับหัวไหล่ 2 ข้างไม่เท่ากัน ระดับเอวไม่เท่ากัน ด้านหลังนูน ผู้ป่วย หรือผู้ปกครองจึงมักมาพบแพทย์ด้วยความกังวลเกี่ยวกับรูปร่าง
ขั้นตอน รักษากระดูกสันหลังคด
1.ผู้ป่วยมาพบแพทย์ แพทย์จะทำการถ่ายภาพทางรังสีกระดูกสันหลัง เพื่อการวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของกระดูกสันหลังคด
2.พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสม
3.บางรายอาจพิจารณาถ่ายภาพทางรังสีคอมพิวเตอร์เพิ่มเติมเพราะจะมีประโยชน์ในการช่วยวางแผนในการผ่าตัด
ทั้งนี้ แบ่งวิธีรักษาเป็น 3 แนวทาง คือ
1.การสังเกตอาการ ในกรณีที่กระดูกสันหลังมีความคดน้อยกว่า 25 องศา แพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการอย่างใกล้ชิดทุก 4-6 เดือน
2.การใส่เสื้อเกราะ หากมีความคดมากกว่า 25-30 องศา แพทย์จะแนะนำให้ใส่เสื้อเกราะเพื่อดัดกระดูกสันหลัง และควบคุมไม่ให้กระดูกสันหลังคดมากขึ้น โดยใส่ประมาณ 23 ชั่วโมงต่อวัน ยกเว้นเวลาอาบน้ำ หรือเล่นกีฬา
3.การผ่าตัด ควรจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระดูกสันหลังคดมากกว่า 45 องศา และยังไม่หยุดการเจริญเติบโต หรือมีความคดมากกว่า 50-55 องศา ในผู้ป่วยที่หยุดการเจริญเติบโตแล้ว โดยการใช้โลหะดามกระดูกสันหลังในการจัดแนวกระดูกสันหลังให้ตรงขึ้นและเชื่อมข้อกระดูกสันหลังให้ติดแข็ง
