นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 มีนาคม 2566 รับทราบแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สอดรับกับข้อห่วงใยของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีการปรับเกณฑ์ แนวทางการดำเนินการ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566 มีค่า นิวส์ สรุปได้ดังนี้
1.กรณีการย้ายภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
- ให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุให้ได้รับสิทธิในเดือนถัดไปทันที เพื่อไม่ให้เสียสิทธิการรับเงิน
- กรมการปกครองจัดทำระบบที่สามารถตรวจสอบการย้ายภูมิลำเนาของผู้สูงอายุได้
- กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมบัญชีกลาง ตรวจสอบข้อมูลและคำนวณงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นในแต่ละปี เพื่อส่งข้อมูลให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นได้อย่างถูกต้อง
2.การปรับอัตราการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได
- ปรับอัตราการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ณ วันที่ผู้สูงอายุมีอายุครบในเดือนนั้นทันที ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุระหว่างปีงบประมาณ ทำให้ผู้สูงอายุ ที่มีอายุครบ 70, 80 และ 90 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพในอัตราเดิมตลอดปีงบประมาณ จึงทำให้ผู้สูงอายุกลุ่มดังกล่าวเสียสิทธิ
2.1 อัตราการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได
- อายุ 60 – 69 ปี 600 บาท /เดือน
- อายุ 70 – 79 ปี 700 บาท/เดือน
- อายุ 80 – 89 ปี 800 บาท/เดือน
- อายุ 90 ปี ขึ้นไป 1,000 บาท/เดือน
2.2 กำหนดการรับเงิน
ภาครัฐจะโอนเงินผ่านธนาคารที่ผู้สูงอายุแจ้งมาให้ทุกวันที่ 10 ของทุกเดือน หากวันที่ 10 ของเดือนใดตรงกับวันหยุดเสาร์อาทิตย์ หรือ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ก็จะเลื่อนเวลาจ่ายเงิน เป็นก่อนวันที่ 10 ของเดือนนั้น ๆ ดังนั้นอาจจะได้รับเงินไม่ตรงวันที่ 10 ในแต่ละเดือน
2.3 วิธีรับเงินตามช่องทางต่าง ๆ
- รับเงินสดด้วยตนเอง
- รับเงินสดโดยบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจ
- โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามตนเอง
- โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจ
3.กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และหลักเกณฑ์ แนวทางการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ของ อปท. พร้อมทั้งปรับปรุงระบบสารสนเทศการจัดการฐานข้อมูลเบี้ยยังชีพ เพื่อให้สามารถคำนวณการใช้จ่ายงบประมาณในการปรับอัตราการจ่ายเงินได้
3.1 ระยะเวลาการลงทะเบียน
- กรณีผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 59 ปี สามารถลงทะเบียนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – เดือนพฤศจิกายน 2565 และเดือนมกราคม 2566 ไปจนถึงเดือนกันยายน 2566 โดยจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในเดือนถัดไป เมื่ออายุครบ 60 ปี บริบูรณ์
หมายเหตุ : ผู้เกิดก่อน 2 กันยายน พ.ศ. 2507 (อายุ 59 ปี) เนื่องจากผู้สูงอายุที่เกิดตั้งแต่ 2 กันยายน พ.ศ. 2507 – 1 ตุลาคม 2507 เป็นผู้สูงอายุที่จะมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในเดือนถัดไป จากเดือนที่มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ คือ เดือนตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นปีงบประมาณ 2568 ดังนั้นกลุ่มผู้สูงอายุดังกล่าวต้องลงทะเบียนขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
- กรณีผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป และยังไม่เคยลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพ สามารถลงทะเบียนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – เดือนพฤศจิกายน 2565 และเดือนมกราคม 2566 ไปจนถึงเดือนกันยายน 2566 โดยจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
3.2 สถานที่ลงทะเบียน
สำนักงานเขต หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้สูงอายุมีภูมิลำเนา
4.คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) เร่งรัดการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและนำเข้าที่ประชุม กผส. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นำมาพิจารณาเพื่อประกอบการแก้ไขระเบียบดังกล่าวด้วย
4.1 คุณสมบัติของผู้ที่ต้องการลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 2566
- มีสัญชาติไทย
- มีอายุ 59 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ก่อนอายุครบ 60 ปี ที่ https://www.dop.go.th/th/know/17/1759
- ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการ หรือ สิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือ เงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน / ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น / ผู้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือ ผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐ หรือ องค์กรปรกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ
หมายเหตุ : ไม่รวมถึงผู้พิการ หรือ ผู้ป่วยเอดส์ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 หรือ ผู้ที่ได้รับสวัสดิการอื่นตามคณะรัฐมนตรี
4.2 หลักฐานประกอบการขอรับ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
- บัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย
- ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่เป็นปัจจุบัน
- สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารในนามผู้มีสิทธิ/ผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ (สำหรับกรณีประสงค์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคาร)
- ในกรณีผู้สูงอายุไม่สามารถมาลงทะเบียนด้วยตนเองได้สามารถมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทนได้
ขอบคุณข้อมูล ประชาชาติธุรกิจ, รัฐบาลไทย