นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีผู้ใช้รถ ใช้ถนนในการเดินทางกลับภูมิลำเนา และเดินทางท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก การขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน จึงต้อง มีความระมัดระวัง ทั้งนี้ภาครัฐมีการรณรงค์ เพื่อเป็นการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด และให้บริการสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ เพื่อสร้างความมั่นใจในผลการวัดของเครื่องเป่า ในการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากผู้ขับขี่ยานพาหนะเมาสุรา เพื่อสนับสนุนการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยสามารถส่งเครื่องเป่าสอบเทียบได้ที่สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ ส่วนภูมิภาคส่งตรวจที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี และสงขลา ห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ และหากห้องปฏิบัติการ พบว่า เครื่องมีค่าความผิดพลาดเกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนด จะทำการปรับตั้งค่าใหม่ เพื่อให้เครื่องสามารถตรวจวัดค่าปริมาณแอลกอฮอล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลการวัดที่ถูกต้องแม่นยำ และใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้ ซึ่งเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยการเป่าลมหายใจ ต้องผ่านการสอบเทียบตามรอบระยะเวลา 6 เดือน เมื่อผ่านการสอบเทียบจะมีใบรับรองผลการสอบเทียบและสติ๊กเกอร์ติดรับรองไว้ที่ตัวเครื่อง ซึ่งผู้ใช้ควรดูแลรักษาเครื่องวัดแอลกอฮอล์ฯ ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ เช่น ไม่ควรเก็บไว้ในอุณหภูมิสูง ระวังไม่ให้เกิดการตกกระแทก ตรวจสอบแบตเตอรี่สม่ำเสมอ ใช้หลอดที่สะอาดในการเป่า และระวังไม่ให้มีน้ำลายเข้าไปอยู่บริเวณหัววัดภายในเครื่อง เป็นต้น
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุแล้ว ผู้ขับขี่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจนไม่สามารถเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือด โดยวิธีเป่าลมหายใจได้ เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลทำการเจาะเลือด (เก็บตัวอย่างทันทีหรือเร็วที่สุด หลังเกิดอุบัติเหตุ) และส่งตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 16 แห่ง ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ สระบุรี สมุทรสงคราม ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา และตรัง) ซึ่งได้รับการรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO 15189 และ ISO/IEC 17025 ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงให้ความร่วมมือในการให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด เพื่อสนับสนุนการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในทุกช่วงเทศกาล
“สำหรับวันควบคุมเข้มข้น ช่วงเทศกาลสงกรานต์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยกเว้นค่าตรวจวิเคราะห์ ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดแก่โรงพยาบาลและสถานีตำรวจ สำหรับตัวอย่างที่เกิดเหตุ ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2566 เวลา 00.01 น. ถึง 17 เมษายน 2566 เวลา 24.00 น. สามารถนำส่งตัวอย่างได้ทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. โดยจะดำเนินการตรวจวิเคราะห์และรายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร. 0 2951 0000 ต่อ 99716 หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั่วประเทศ” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว