นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 6 มิถุนายน 2566 เห็นชอบหลักการ เสนอพระนาม ร.9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลอง ในวาระ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ ในปี 2570 โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักทำร่างเอกสารเสนอพระนาม ต่อองค์การ UNESCO ต่อไป
การเสนอพระนามฯ ดังกล่าวนี้ เนื่องจากพระองค์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นต่อประเทศไทย ทรงอุทิศพระองค์เพื่อปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกร นอกจากนี้ พระราชกรณียกิจ ของพระองค์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และการดำเนินงานขององค์การ UNESCO ทั้ง 5 ด้าน คือ
1.การศึกษา
2.วัฒนธรรม
3.วิทยาศาสตร์
4.สังคมศาสตร์
5.สื่อสารมวลชน
ตลอดจนมีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมสันติภาพ ความเท่าเทียม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งนานาชาติและองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ให้การยอมรับในฐานะพระมหากษัตริย์นักพัฒนา
กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1.ยกร่างข้อมูลเพื่อเสนอพระนามฯ ให้องค์การ UNESCO โดยจะต้องจัดส่งเอกสารการเสนอพระนามฯ ภายในปี 2567 เพื่อนำเข้าที่ประชุม คณะกรรมการบริหารขององค์การ UNESCO เพื่อพิจารณาภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 ก่อนที่ประชุมสมัยสามัญขององค์การ UNESCO พิจารณาให้ความเห็นชอบ ในเดือน พฤศจิกายน 2568
2.เตรียมการด้านต่าง ๆ โดยได้จัดทำร่างแผนการดำเนินงานการเสนอพระนามฯ เพื่อให้การดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ด้วยความเรียบร้อยและสอดคล้อง ตามหลักเกณฑ์และกำหนดการขององค์การ UNESCO
ทั้งนี้ ประเทศไทย มีบุคคลสำคัญที่ได้รับการประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลอง โดยองค์การ UNESCO เช่น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์ โดยรัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี ซึ่งตรงกับวันประสูติ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา