น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 ก.ค. 66 อนุมัติหลักการ ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าเข้าชมและค่าบริการอื่นสำหรับโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ (ฉบับที่….) พ.ศ…. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงอัตราค่าเข้าชมและค่าบริการอื่นสำหรับโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ 72 แห่ง รวมถึงปรับปรุงบัญชีรายชื่อโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เรียกเก็บค่าเข้าชม เฉพาะกรณีชาวต่างชาติ มีค่า นิวส์ สรุปมาให้ค่ะ
กำหนดค่าเข้าชมโบราณสถาน อัตราใหม่ ดังนี้
1.โบราณสถานประเภทอุทยานประวัติศาสตร์ สำหรับคนไทย คนละ 20 บาท บุคคลสัญชาติอื่น จากเดิมจ่ายคนละ 100 บาท **เพิ่มเป็นคนละ 120-200 บาท
2.โบราณสถานประเภทแหล่งโบราณคดี หรือสถานที่สำคัญ สำหรับคนไทย คนละ 10-20 บาท บุคคลสัญชาติอื่น จากเดิมจ่ายคนละ 50-100 บาท **เพิ่มเป็นคนละ 80-120 บาท
กำหนดค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อัตราใหม่ ดังนี้
1.พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขนาดเล็ก บุคคลสัญชาติไทย คนละ 10 บาท บุคคลสัญชาติอื่น จากเดิมจ่ายคนละ 50 บาท **เพิ่มเป็นคนละ 80 บาท
2.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขนาดกลาง บุคคลสัญชาติไทย คนละ 10-20 บาท บุคคลสัญชาติอื่น จากเดิมจ่ายคนละ 50-100 บาท **เพิ่มเป็นคนละ 120 บาท
3.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขนาดใหญ่ บุคคลสัญชาติไทย คนละ 20-30 บาท บุคคลสัญชาติอื่น จากเดิมจ่ายคนละ 100-150 บาท **เพิ่มเป็นคนละ 200 บาท
4.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ สำหรับบุคคลสัญชาติไทย คนละ 30 บาท บุคคลสัญชาติอื่น จากเดิมจ่ายคนละ 200 บาท **เพิ่มเป็นคนละ 240 บาท
นอกจากนี้ ในร่างกฎกระทรวงฯ ยังมีการปรับปรุงบัญชีรายชื่อโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เรียกเก็บค่าเข้าชมได้ โดยเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง ประกอบด้วย
1.โบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธนม อ.โคกสูง จ.สระแก้ว
2.โบราณสถานวัดกุฎีดาว อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
3.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์ อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก
4.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์
จึงต้องมีการจัดทำร่างกฎกกระทรวงเพื่อกำหนดทั้งค่าเข้าชม ค่าบริการอื่น และบัญชีรายชื่อโบราณสถานข้างต้น และให้ยกเลิกค่าเช่าหูฟังบรรยายภาษาต่างประเทศด้วย
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ แล้ว เห็นว่า การการอนุมัติร่างกฎกระทรวงฯ นี้เป็นการปฏิบัติราชการตามปกติ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายแม่บทที่ได้บัญญัติให้อำนาจไว้ ไม่ได้เป็นกรณี ที่ ครม.กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการที่สร้างความผูกพันต่อ ครม. ชุดต่อไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169(1) ดังนั้น ครม. สามารถพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงฯ นี้ได้