ข่าวดีสำหรับคนไทย!! เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 45 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้ประกาศรับรองขึ้นทะเบียน “เมืองโบราณศรีเทพ” อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 หรือ ภายใต้ชื่อ เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานทวารวดีที่เกี่ยวเนื่อง (The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments) มีค่า นิวส์ จึงจะพามารู้จักที่นี่ให้มากขึ้นกันค่ะ
เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายของการแลกเปลี่ยนสินค้า เส้นทางการค้า และวัฒนธรรมระหว่างพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8-18 เป็นเมืองที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่งในสมัยทวารวดี มีการติดต่อรับคติความเชื่อทางศาสนาหลายศาสนาและนิกาย ทั้งพุทธศาสนาแบบเถรวาทและมหายาน รวมไปถึงศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีการติดต่อสัมพันธ์กับวัฒนธรรมใกล้เคียง ตั้งแต่วัฒนธรรมอินเดีย ขอม และทวารวดีจากแหล่งอื่น ๆ
บริเวณเมืองฯ พบหลักฐานการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องใน 3 สมัย ได้แก่
1.ชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี เป็นชุมชนเกษตรกรรม ประกอบด้วยหมู่บ้านเล็ก ๆ หลายแห่ง แต่ละหมู่บ้านมีผู้นำ ผู้คนรู้จักการใช้ชีวิตและจัดการตนเองให้อยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นอย่างดี มีการเพาะปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนการล่าสัตว์และรวบรวมทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่
นอกจากนี้ยังมีการทอผ้า การทำเครื่องปั้นดินเผา และการถลุงโลหะในชุมชนด้วย ผู้คนอาจเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายหรือโลกหน้า ในขณะที่พวกเขาฝังศพผู้ตายด้วยสิ่งของที่ฝังศพหลากหลายชนิด การหาอายุของเรดิโอคาร์บอน AMS ของตัวอย่างฟันจากแหล่งขุดค้นดังกล่าวให้ผล 1,730 ± 30 ปีที่แล้ว
นอกจากวัฒนธรรมอินเดีย ขอมและทวารวดีแล้ว ยังปรากฏร่องรอยการเดินทางมาของชาวจีน โดยพบจารึกบนพระพิมพ์เป็นอักษรจีนมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 สลักชื่อภิกษุ “เหวินเซียง” อันแสดงถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับจีนและความสำคัญของเมืองโบราณศรีเทพในยุคสมัยดังกล่าว ที่ทำให้คนจากต่างถิ่นต้องมาเยือน
กระทั่งสมัยวัฒนธรรมขอมแผ่ขยายเข้ามามีอิทธิพลในตอนปลาย ทำให้ เมืองนี้ หมดความสำคัญและกลายเป็นเมืองร้างจวบจน พ.ศ. 2447–2448 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงค้นพบ เมืองโบราณศรีเทพ เมื่อเสด็จมาตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ ครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
จากนั้น หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ได้ขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ เป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 และต่อมา ใน พ.ศ. 2527 เมืองโบราณศรีเทพได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ ภายใต้รูปแบบ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
สถานที่สำคัญภายใน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
1.ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ อยู่ห่างจากประตูทางเข้าเล็กน้อยทางด้านซ้ายมือ เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านทั่วไป ทุกปีจะมีงานบวงสรวง ในราวเดือนกุมภาพันธ์ (ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3)
2.ปรางค์ศรีเทพ สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง แบบเดียวกับสถาปัตยกรรมเขมรทั่ว ๆ ไป
3.สระแก้ว อยู่นอกเมืองไปทิศเหนือ ส่วนสระขวัญจะอยู่ในบริเวณเมืองส่วนนอก สระน้ำทั้งสองสระนี้ มีน้ำขังตลอดปี และเชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีการนำน้ำทั้งสองสระนี้ไปทำน้ำพิพัฒน์สัตยา ตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน
4.โบราณสถานเขาคลังใน เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บอาวุธและทรัพย์สมบัติต่าง ๆ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง
5.ปรางค์สองพี่น้อง ลักษณะเป็นปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ มีประตูทางเข้าทางเดียว เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนต่อนครวัด และได้มีการสร้างปรางค์องค์เล็กเพิ่ม
6.เขาคลังนอก เป็นมหาสถูปในวัฒนธรรมทวารวดีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีลักษณะหลงเหลือเป็นสิ่งก่อสร้างสี่เหลี่ยม ใช้ศิลาแลงก่อสูงขึ้นไปจนมีขนาดใหญ่โต แบ่งเป็น 2 ชั้นหลัก ๆ โดยแต่ละชั้นสูงประมาณ 5 เมตร
7.เขาถมอรัตน์และถ้ำ เป็นภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ที่มีรูปลักษณ์เฉพาะ เป็นที่ตั้งของถ้ำถมอรัตน์ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานที่ดัดแปลงจากถ้ำหินปูนธรรมชาติ คนพบพระพุทธรูปจำนวนมากในนี้
8.อาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดี จัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูกช้างที่ได้ขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ 2531
เหตุผลที่ได้รับคัดเลือกเป็นแหล่งมรดกโลก
- (ii) – เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
- (iii) – เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
ขอบคุณข้อมูล อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ, วิกิพิเดีย