Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

กฎหมาย สมรสเท่าเทียม ล่าสุด ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ส่องที่นี่!

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 อนุมัติหลักการ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สมรสเท่าเทียม) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ โดยสาระสำคัญมีหลายข้อ มีค่า นิวส์ สรุปมาให้

1.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้บุคคล 2 คน ไม่ว่าเพศใดสามารถทำการหมั้นและสมรสได้

2.แก้ไขคำว่า “ชาย” “หญิง” “สามี” “ภริยา” และ “สามีภริยา” เป็น “บุคคล” “ผู้หมั้น” “ผู้รับหมั้น” และ ”คู่สมรส” เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่หมั้น หรือ คู่สมรส ไม่ว่าจะมีเพศใด

3.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายให้การรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีคู่รักเพศเดียวกันอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวจำนวนมาก โดยขาดเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการความสัมพันธ์ทางครอบครัว ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อครอบครัวหลากหลายทางเพศหลายประการ เช่น

1.สิทธิในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาล

2.สิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน

3.สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน

4.สิทธิในการรับมรดก

อย่างไรก็ตาม กระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ในรูปแบบออนไลน์ทางเว็บไซต์ law.go.th และ ระบบ google forms บนเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 – 14 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา และได้รับฟังความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนกลุ่มศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566

และผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอ (Video Conference) ร่วมกับทุกภาคส่วนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 4 ครั้ง ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ และรับฟังความเห็นในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 มีผู้แทนภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม กลุ่มความหลากหลายทางเพศ และประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวาง

รวมทั้งได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนส่วนราชการวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 โดยส่วนใหญ่เห็นชอบในหลักการ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปดำเนินการจัดทำร่างกฎหมาย เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

Exit mobile version