นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ ประจำปี 2567 ระหว่าง สำนักงานประกันสังคม กับ สถานพยาบาลเอกชน ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2566 มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1.เพื่อให้สถานพยาบาลเอกชนในโครงการประกันสังคมได้รับทราบระเบียบ แนวทางปฏิบัติการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน ตามสัญญาจ้างบริการทางการแพทย์
2.เพื่อให้สามารถจัดบริการอย่างมีคุณภาพ พร้อมร่วมกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน
3.พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับบริการที่ดี และพึงพอใจเป็นสำคัญ

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ปัจจุบัน ผู้ประกันตนมีแนวโน้มเลือกสถานพยาบาลเอกชนเพิ่มมากขึ้น เพราะเกิดจากความร่วมมือของสถานพยาบาลคู่สัญญาที่ร่วมกันพัฒนาคุณภาพทั้งมาตรฐานการรักษา และการให้บริการที่เป็นเลิศที่ดีเสมอมา
ในปี 2567 มีสถานพยาบาลหลัก เข้าร่วมโครงการลงนามเป็นสถานพยาบาลคู่สัญญาให้บริการทางการแพทย์ จำนวน 267 แห่ง แยกเป็น
1.สถานพยาบาลภาครัฐ จำนวน 170 แห่ง
2.สถานพยาบาลเอกชน จำนวน 97 แห่ง **เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 7 แห่ง

สำหรับการคัดเลือกสถานพยาบาลคู่สัญญาให้บริการทางการแพทย์ เพื่อการดูแลรักษาผู้ประกันตนตามมาตรฐานที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด มีใจความสำคัญ คือ ต้องทำการรักษาผู้ประกันตนจนสิ้นสุดการรักษาโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่จำกัดวงเงินค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ สถานพยาบาลจะไม่เรียกเก็บเงินค่าบริการทางการแพทย์ มีระบบการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลระดับที่สูงกว่าหรือสถานพยาบาลที่เชี่ยวชาญเฉพาะโรค เพื่อให้การบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่เกินศักยภาพของสถานพยาบาลคู่สัญญาที่ให้การบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน



ในวันที่ 20 ธันวาคม 2566 สำนักงานประกันสังคม จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อร่วมพัฒนาระบบการให้ บริการทางการแพทย์ทางไกล telemedicine หรือ telehealth ระบบนัดหมายให้บริการแก่ผู้ประกันตนล่วงหน้า เพื่อลดระยะเวลาการรอคอย พร้อมปรับรูปแบบการจัดบริการทางการแพทย์ให้เหมาะสมแก่ผู้ประกันตน และการบูรณาการการใช้สิทธิการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อดูแลรักษาผู้ประกันตนให้เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์อย่างดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคม ยังคงมุ่งมั่น โดยยึดหลักการดำเนินงานภายใต้แนวทางของกระทรวงแรงงาน และรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ด้านการให้บริการทางการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยบูรณาการงานด้านบริการทางการแพทย์อย่างเหมาะสม เท่าเทียม มีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศในการยกระดับการบริการให้แก่ผู้ประกันตนให้ได้รับความสะดวกด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย