กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีนโยบายนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การพัฒนาข้อกำหนดและให้บริการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะสามารถ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ช่วยลดขยะพลาสติก ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจให้ผู้บริโภค ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
ด้านนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า วศ.อว. สนับสนุนการใช้ทรัพยากรสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน โดยมีการดำเนินการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ภาชนะสัมผัสอาหารจากธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบัน วศ. ได้พัฒนาข้อกำหนดและให้บริการรับรองผลิตภัณฑ์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน : ภาชนะสัมผัสอาหารจากธรรมชาติ กาบหมาก ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองต้องเป็นไปตามประกาศกรมวิทยาศาสตร์บริการ เรื่อง ข้อกำหนดเฉพาะผลิตภัณฑ์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน : ภาชนะสัมผัสอาหารจากธรรมชาติกาบหมาก เกณฑ์กำหนดประกอบด้วย คุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ทั้งด้านความปลอดภัยและทางกายภาพที่มีความเหมาะสมกับการใช้งาน สุขลักษณะอนามัยของการผลิต และการดำเนินงานตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนของสถานประกอบการ
ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ที่เข้าสู่กระบวนการของการรับรองผลิตภัณฑ์ จำนวน 108 โมเดล ได้รับการรับรองคุณภาพ 70 โมเดล จากผู้ประกอบการผู้ผลิตจำนวน 12 ราย
นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรม วศ. ยังได้พิจารณาเลือกผลิตภัณฑ์หลอดจากธรรมชาติ ประเภทกระจูดและราโพ เป็นผลิตภัณฑ์ที่จะให้การรับรองต่อไป เนื่องจากหลอดทั้งสองประเภทนี้ ผลิตจากพืชเติบโตเร็วหากมีปริมาณมากเกินไปจำเป็นต้องกำจัดทิ้ง เนื่องจากจะเป็นสาเหตุของการเกิดไฟป่า
นอกจากนี้ จากการเปิดเผยของผู้ประกอบการผู้ผลิตหลอดทั้งสองประเภทแล้ว พบว่าขณะนี้ผลิตภัณฑ์เริ่มเป็นที่ต้องการของตลาดโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ และผู้บริโภคที่ให้ความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ผลจากการดำเนินการดังกล่าวจะสามารถยกระดับคุณค่าผลิตภัณฑ์ภาชนะสัมผัสอาหารจากธรรมชาติและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการใช้งาน สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจสีเขียวให้กับผู้ประกอบการไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป