กรมการแพทย์ เพิ่มจำนวนเตียงเพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยยาเสพติดได้มากขึ้น ซึ่งมีผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูระยะยาวจำนวน 1,851 ราย คิดเป็นร้อยละ 66.08 โดยใช้รูปแบบชุมชนบำบัดที่พัฒนาจนปัจจุบันเรียกว่า FAST model ซึ่งเป็นต้นแบบการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดให้กับสถานฟื้นฟูฯ ทั้งของภาครัฐ และเอกชน มีการพัฒนาการรักษาแบบ Home ward ยาเสพติด ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากแพทย์และทีมสหวิชาชีพ ผู้ป่วยอยู่ที่บ้านได้รับการดูแลเสมือนอยู่ในโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังขยายหน่วยบริการ มินิธัญญารักษ์ ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดเพื่อรองรับผู้ป่วยยาเสพติด
จะเห็นได้ว่าการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด ไม่ใช่แค่รักษาอาการฉุกเฉินแล้วหายขาด เพราะส่วนใหญ่มักจะกลับมาเสพติดใหม่ จึงต้องมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ด้านอารมณ์ ด้านสังคม และการดำเนินชีวิต ผู้ป่วยยาเสพติดหลายราย ต้องการการดูแลในระยะยาวแบบ Long Term Care เพราะปัญหาการใช้ยาเสพติดมักจะมีปัญหาอื่นเข้ามาเสริม เช่น ปัญหาพฤติกรรม พื้นฐานทางอารมณ์ จิตใจ การขาดที่พึ่งพิง ปัญหาครอบครัว ปัญหาการทำผิดกฎหมาย และปัญหาทางจิตเวช เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมการแพทย์ และกรมสุขภาพจิต ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการให้บริการผู้ป่วยจิตเวช ที่จังหวัดอุดรธานีซึ่งกรมการแพทย์ให้การสนับสนุนพื้นที่บางส่วนของโรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี เพื่อเปิดเป็นโรงพยาบาลจิตเวชสาขาอุดรธานี ในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยโรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานีได้มีการเพิ่มเตียงและศักยภาพในการให้บริการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดที่ยุ่งยากซับซ้อนอย่างเหมาะสมเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนต่อไป