เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่ากระทรวง อว. มีนโยบายสำคัญในการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน โดยเน้นให้เกิดการพัฒนาที่รองรับทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน มีความสอดคล้องกับบริบทสังคมไทยให้ผลงาน มีมาตรฐานอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ
โดยผลงานล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. ได้ส่งนางสาวพรรัตน์ ไชยมงคล นักวิทยาศาสตร์ เข้าร่วมประกวดผลงานนวัตกรรมในงาน International Exhibition of Inventions in the Middle East ณ ประเทศคูเวต ซึ่งจัดโดย Kuwait Science Club ในพระอุปถัมภ์ของเจ้าผู้ครองรัฐคูเวต โดยนำผลงาน “นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ด้านการทำความสะอาดฆ่าเชื้อในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน“ โดยการใช้กระบวนการ Advanced Oxidation Process ในการฆ่าเชื้อโรคทั้งในพื้นผิวและอากาศภายในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน” เป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศไทยเข้าประกวดและได้รับรางวัลระดับนานาชาติในครั้งนี้ นับเป็นที่น่ายินดีและนำมาซึ่งความภาคภูมิใจอย่างยิ่งสำหรับบุคลากรกระทรวง อว. ที่เรามีนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ทั้งเก่งและมีความรู้ความสามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติได้ ภายในงานฯ ดังกล่าว ได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูตฯ ณ คูเวต ร่วมแสดงความยินดีและพูดคุยกับทีมนวัตกรเกี่ยวกับโอกาสทำความร่วมมือด้านนวัตกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องระหว่างไทยกับคูเวต พร้อมทั้งเชิญชวนทีมวิจัย วศ.อว.เข้าร่วมโครงการฯ ของสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อขยายเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือทางวิชาการในอนาคต
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า วศ.อว. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรเป็นภารกิจสำคัญลำดับแรก ทั้งการดูแลสภาพแวดล้อม และปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาและการทำงาน นอกจากนี้ได้ส่งเสริมให้บุคลากรของ วศ.อว. แสวงหาพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อสร้างความร่วมมือในการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ยกระดับขีดความสามารถประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน
สำหรับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ด้านการทำความสะอาดฆ่าเชื้อในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินฯ ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ประกอบด้วย 2 Model ได้แก่ Model สำหรับติดตั้งในสถานีรถพยาบาล จะใช้งานเมื่อรถพยาบาลออกไปให้บริการผู้ป่วยและกลับมาทำความสะอาดฆ่าเชื้อที่ Station และ Portable Model สำหรับติดตั้งในรถพยาบาลกรณีที่ไม่สามารถกลับเข้าทำความสะอาดที่สถานีได้ และมีประโยชน์อย่างยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดรุนแรงและสถานการณ์ปกติ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่บุคลากรและผู้ป่วย ที่อาจสัมผัสเชื้อโรคได้ สำหรับตัวเครื่องใช้แบตเตอรี่และสามารถชาร์จไฟจากรถพยาบาลได้ โดยทั้ง 2 model ทำการฆ่าเชื้อแบบอัตโนมัติ สามารถสั่งงานผ่าน Remote หรือ Applications โดยไม่ต้องใช้คนเข้าไปทำความสะอาดฆ่าเชื้อ
ทั้งนี้ ผลงานฯ ดังกล่าว ได้ส่งมอบเพื่อนำร่องใช้งานจริงในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ปทุมธานี แหลมฉบัง ชลบุรี สมุทรปราการ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ป่วย และเป็นการร่วมผลักดันบูรณาการระหว่างองค์กรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดระบบฆ่าเชื้อที่สามารถติดตั้งในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินและสามารถขยายการใช้งานนวัตกรรมทั่วประเทศต่อไป