วันที่ 9 พฤษภาคม 2567. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตนมีนโยบายในการพัฒนาด้านการอุดมศึกษาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตประชาชนลงสู่พื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดคุณภาพมาตรฐานที่ทัดเทียมทุกพื้นที่ ตนได้ให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) จัดตั้ง “ศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม อว.ในระดับภูมิภาค” ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม อว. จะเป็นจุดเชื่อมต่อกับหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ในส่วนกลางของกระทรวง อว. รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในระดับพื้นที่ โดยอาศัยกลไกความเชื่อมโยงการให้บริการระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวง อว. ที่เป็นองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายและมหาวิทยาลัยที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว นอกจากนี้ภายใต้ศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม อว. ได้มีการจัดตั้ง “หน่วยปฏิบัติการผู้พันวิทย์” ระดับพื้นที่เพื่อเฝ้าระวัง เตือนภัย ให้ความรู้ รับรู้ถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน นำมาตรวจสอบสาเหตุด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แนะนำแนวทางแก้ปัญหาให้เกิดการตอบสนองอย่างทันท่วงที โดยมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินงานศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม อว. ถือเป็นการประสานให้เกิดพลังร่วมสู่การดูแลประชาชนโดยตรง
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ดำเนินงานเพื่อจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้หารือกับ ศ.ดร. พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในความร่วมมือพัฒนาการให้บริการและจัดตั้ง “ศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” โดยการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เช่น การพัฒนาห้องปฏิบัติการมาตรฐานเพื่อทดสอบคุณภาพสินค้า ส่งเสริมห้องปฏิบัติการที่สำคัญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ได้ขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 ในสาขาวัสดุก่อสร้าง คุณภาพน้ำอุปโภคบริโภค ผลิตภัณฑ์อาหาร การวิเคราะห์สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs-Volatile organic compounds) ใน Green Material การทดสอบพลาสติกรีไซเคิล (rPET- recycled polyethylene terephthalate) นอกจากนี้จะมีความร่วมมือการวิจัยพัฒนาด้านกระบวนการนำคอนกรีตทิ้งแล้วมาใช้ใหม่ (Recycled Concrete) การพัฒนาวัสดุชีวภาพประเภท Bioglass ผลิตภัณฑ์ป้องกัน PM2.5 เช่น มุ้งนาโนกันฝุ่น รวมถึงการวิจัยพัฒนาวัสดุที่ใช้ในการบูรณะโบราณสถาน เช่น แก้ว เซรามิค รวมถึงการดำเนินงาน “หน่วยปฏิบัติการผู้พันวิทย์” พื้นที่ภาคเหนือตอนบน
นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการได้สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากรองศาสตราจารย์มาลิณี. จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง และในระดับชุมชน ให้เกิดการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการให้บริการประชาชนอย่างทันท่วงที หรือหน่วยปฏิบัติการ “ผู้พันวิทย์” เพื่อเฝ้าระวัง เตือนภัย และให้ความรู้ประชาชน รวมถึงการลงปฏิบัติการในระดับพื้นที่ และได้ร่วมพัฒนาห้องปฏิบัติการที่สำคัญในมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ให้ได้มาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 เช่น ด้านวัสดุก่อสร้างและคุณสมบัติเชิงกลของวัสดุ การตรวจวิเคราะห์ น้ำอุปโภค บริโภค ผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ตลอดจนหารือความร่วมมือวิจัยพัฒนาด้านกระบวนการบำบัดน้ำเสียจากสีย้อมของอุตสาหกรรมผ้าทอ และเรื่อง PM 2.5 ตาม พรบ.อากาศสะอาด
การจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและอีสานตอนล่าง จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับพื้นที่ ด้วยการตรวจสอบคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานสากล การเพิ่มมูลค่าสินค้า การลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาเพื่อเป็นการเพิ่มสมรรถนะให้นักศึกษาในการทำงานจริงหลังสำเร็จการศึกษา โดยกระทรวง อว. จะขยายการดำเนินงาน “ศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม อว.” ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวง อว. ถือ เป็นการผนึกพลังเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชนอย่างยั่งยืน ด้วยภารกิจด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม