ในโลกยุคปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การใช้ชีวิตอย่างสุขสบายและมีอิสระ กลายเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับคนทุกเจเนอเรชัน ไหนจะความเครียดจากงาน ปัญหาเศรษฐกิจ และภาระหน้าที่ในการดูแลครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่ม Sandwich Generation หรือ วัยทำงาน ที่ต้องเป็น เดอะแบก ของครอบครัว เลี้ยงดูทั้งพ่อแม่และลูกวัยเรียน อาจสะสมกลายเป็น ไมเกรน ได้
นพ.ภีมณพัชญ์ ธนชาญวิศิษฐ์ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทวิทยา ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.วิมุต เปิดเผยว่า ไมเกรน (Migraine) คือ อาการผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมอง ส่งผลให้สารเคมีในสมองหลั่งผิดปกติ ผลลัพธ์ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองและเยื่อหุ้มสมองขยายตัวจนปวดศีรษะแบบตุบๆต่อเนื่อง มักจะปวดศีรษะข้างเดียว ซึ่งต่างจากอาการปวดหัวทั่วไป
อาการไมเกรน มักเป็นการปวดหัวตุบ ๆ ข้างเดียว ปวดปานกลางถึงรุนแรงต่อเนื่อง แต่มักไม่เกิน 3 วัน อาจคลื่นไส้ อาเจียน ตาไม่สู้แสง หรือเห็นแสงแวบ ๆ ในตาก่อนปวด ไมเกรนมักพบในวัยรุ่น วัยทำงาน และวัยเจริญพันธุ์ เพราะเป็นวัยที่มีปัจจัยกระตุ้นมากที่สุด เช่น ความเครียด ไลฟ์สไตล์ หรือ ฮอร์โมน โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า แต่พบได้น้อยในเด็กและกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยมีปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.ปัจจัยภายใน ได้แก่ เพศหญิง, ความเครียด, การอดนอน และการออกกำลังกายหักโหม
2.ปัจจัยภายนอก เช่น ความร้อน, แสงแดด, ควันบุหรี่, กลิ่นน้ำหอม, กลิ่นดอกไม้ และอาหารบางชนิด
สำหรับความเชื่อที่ว่า คนเป็นไมเกรนเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดในสมอง นพ.ภีมณพัชญ์ อธิบายว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปทางการแพทย์ ที่ยืนยันว่า ไมเกรน ทำให้หลอดเลือดในสมองตีบหรือเส้นเลือดในสมองแตก แต่อาจเกิดจากพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะยาไมเกรนบางชนิดทำให้หลอดเลือดหดตัวแล้วไม่คลายออกซึ่งทำให้เป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบจากยาได้ ส่วนอาการเส้นเลือดในสมองแตก มีงานวิจัยในปี 2013 ที่บอกว่า การปวดไมเกรนอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยง แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองแตกแต่อย่างใด
ส่วนวิธีป้องกันไมเกรนกำเริบ คือ การเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น เลี่ยงแสงแดด และความร้อน ถ้าออกไปข้างนอกก็สวมเสื้อให้มิดชิด ใส่แว่นกันแดด และกางร่ม หรือใครที่ปวดหัวไมเกรนจากควันบุหรี่ ก็ต้องอยู่ให้ห่างผู้สูบ กรณีที่ไมเกรนกำเริบควรอยู่ในที่เงียบ เย็น และแสงน้อย การประคบศีรษะด้วยความเย็น ก็ช่วยลดอาการปวดได้
นพ.ภีมณพัชญ์ ธนชาญวิศิษฐ์ พูดถึงการรักษา ไมเกรน แพทย์อาจจ่ายยาป้องกัน หรือควบคุมอาการปวด โดยพิจารณาให้คนที่มีอาการปวดเรื้อรัง บางคนแพทย์อาจจ่ายยากลุ่มกันชัก โรคหัวใจ ความดัน ยานอนหลับ หรือยากลุ่มซึมเศร้าบางตัวที่ช่วยป้องกันไมเกรนได้ นอกจากนี้ ปัจจุบันมียาป้องกันไมเกรนแบบฉีดเข้าผิวหนัง ซึ่งตัวยาจะช่วยยับยั้ง สาร CGRP ที่เป็นต้นเหตุของอาการปวดหัวไมเกรน เป็นทางเลือกลดความรุนแรงและความถี่ในการปวดได้ถึงร้อยละ 50 ที่สำคัญคือสะดวก ฉีด 1 เข็ม อยู่ได้นานถึง 1 เดือน
ทั้งนี้ ใครที่มีอาการ ปวดหัวเรื้อรัง แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการให้แน่ชัด ไม่แนะนำให้ไปซื้อยากินเอง เพราะยาหลายตัว อาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ และการปวดศีรษะก็ไม่ได้มีแค่ภาวะไมเกรนอย่างเดียว จึงจำเป็นต้องหาสาเหตุและสิ่งที่กระตุ้นอาการของแต่ละคนเพื่อการรักษาอย่างเหมาะสม
ผู้ที่สนใจปรึกษาแพทย์ โรงพยาบาลวิมุต ติดต่อได้ที่ ชั้น 6 ศูนย์สมองและระบบประสาท หรือ โทรนัดหมาย 02-079-0068 เวลา 08.00-17.00 น. หรือใช้บริการ Telemedicine ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่าน ViMUT App คลิก >> https://bit.ly/372qexX