นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) พร้อมด้วย นางพจมาน ท่าจีน รองอธิบดี วศ. เข้าร่วมงานประชุมวิชาการ และร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสวันมาตรวิทยาโลก และโอกาสครบรอบ 26 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ มว.) โดยมีนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประธานกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาวิชาการ ภายใต้แนวคิด “เราวัดวันนี้ เพื่อพรุ่งนี้ ที่ยั่งยืน (We measure today for sustainable tomorrow)”
เพื่อแสดงศักยภาพด้านการวัดระดับสูง และพันธกิจการส่งมอบการวัดที่ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้ในอนาคต ซึ่งต้องเพียงพอที่จะรองรับการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติ ณ ห้องแชฟไฟร์ 204-206 ชั้น 2 อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัด นนทบุรี
นางสาวศุภมาส ได้กล่าวภายในงานว่าประชาคมมาตรวิทยา ต้องร่วมกันกำหนดบทบาทของตนเองในการสร้าง “อนาคตที่ยั่งยืน” ให้เกิดขึ้นให้จงได้ เพราะสิ่งที่มาตรวิทยาทำในวันนี้ จะส่งผลกระทบต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า นั่นคือ “มาตรวิทยา” ต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างและไกล โดยต้องพัฒนาระบบมาตรวิทยาของประเทศให้เข้มแข็งมีสมรรถนะสูงขึ้น และส่งมอบการวัดที่ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้ในอนาคต เพียงพอที่จะรองรับการพัฒนาในทุกบทบาทและทุกเส้นทางที่ประเทศไทยจะเลือกเดินไป รวมถึงรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติ เพราะพรุ่งนี้ของมาตรวิทยาคืออนาคตของประเทศไทย
ด้านนายแพทย์รุ่งเรือง เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ ในฐานะสถานปฏิบัติการกลางทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ที่ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบมาเป็นเวลานานได้ตระหนักถึงความสำคัญของมาตรวิทยา เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI) ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดย วศ. พร้อมให้ร่วมมือกับเครือข่าย NQI ที่สำคัญของประเทศให้เกิดการบูรณาการอย่างเป็นระบบ และขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันในอนาคต
นอกจากนั้น ยังจัดให้มีเวทีประชุมและเสวนากลุ่มย่อยระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI) โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มย่อย ได้แก่
1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ ด้านเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charger)
2.Q Cold-Chain และมาตรวิทยาอุณหภูมิในประเทศไทย
3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ เพื่ออุตสาหกรรมสมุนไพร
4.การพัฒนา Digital Product สู่โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศแบบดิจิทัล
5.โครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพเพื่อรองรับการพัฒนาระบบรางของประเทศไทย