กองพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ (พศ.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ 2 หลักสูตร คือหลักสูตร “การควบคุมคุณภาพผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ยาง” และหลักสูตร “การจัดการเครื่องมือในงานวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ยาง” โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านอุตสาหกรรมยางในประเทศไทยสู่มาตรฐานระดับสากล ตามแผนงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) เพื่อส่งเสริมผู้ปฏิบัติงานด้านยาง ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในทฤษฎีและหลักการผลิตภัณฑ์ยางตามมาตรฐานสากล
การฝึกอบรมหลักสูตรการควบคุมคุณภาพผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ยาง จัดขึ้นในวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ณ ห้อง 519 ชั้น 5 อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมวิชาการเกษตรและกรมวิทยาศาสตร์บริการ นำโดย อาจารย์พรทิพย์ ประกายมณีวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบมาตรฐานยาง กองการยาง กรมวิชาการเกษตร อาจารย์เยาวลักษณ์ ชินชูศักดิ์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ อาจารย์ภัณฑิลา ภูมิระเบียบ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กองวัสดุวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ พร้อมคณะวิทยากรจากกองวัสดุวิศวกรรม และกองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ โดยมีผู้เข้ารับการอบรมจาก 13 หน่วยงาน รวม 37 ท่าน เป็นผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการด้านผลิตภัณฑ์ยาง จากภาครัฐ 19 ท่าน และภาคเอกชน 18 ท่าน
และการฝึกอบรมหลักสูตรการจัดการเครื่องมือในงานวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ยาง จัดขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ณ ห้อง 519 ชั้น 5 อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิกรมวิทยาศาสตร์บริการ นำโดย ดร. อรวรรณ ปิ่นประยูร หัวหน้ากลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง กองวัสดุวิศวกรรม ดร.อัจฉราวรรณ วัฒนหัตถกรรม นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ พร้อมคณะวิทยากรจากกองสอบเทียบเครื่องมือวัด โดยมีผู้เข้ารับการอบรมจาก 14 หน่วยงาน รวม 35 ท่าน เป็นผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการด้านผลิตภัณฑ์ยาง จากภาครัฐ 25 ท่าน และภาคเอกชน 10 ท่าน
วศ.อว. มุ่งหวังให้ผู้ได้รับการอบรมสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในควบคุมคุณภาพผลการทดสอบทั้งภายนอกและภายใน และการจัดการ ตรวจสอบ รวมทั้งการบำรุงดูแลรักษาเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ในหน่วยงานของตนเอง เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลการวิเคราะห์ทดสอบให้ความถูกต้องและแม่นยำ ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการยางในประเทศไทยให้ได้รับการรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยางของประเทศ เพิ่มศักยภาพในการส่งออก และโอกาสในการแข่งขันในตลาดโลก ภายใต้ภารกิจ กรมวิทยาศาสตร์บริการ “นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน”