แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า บุหรี่เป็นสิ่งเสพติด และยังเป็นสินค้าที่ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งในวงการแพทย์นานาชาติยอมรับว่าสานิโคตินในบุหรี่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้สูบบุหรี่เกิดการเสพติดและมีอำนาจเสพติดสูงกว่าเฮโรอีน กัญชา และยาบ้า โดยสารนิโคตินในบุหรี่จะออกฤทธิ์และทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นสู่การใช้ยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น การสูบบุหรี่จะนำไปสู่การติดยาเสพติดอื่นที่รุนแรงขึ้น เช่น เฮโรอีน กัญชา ฝิ่น หรือ โคเคน รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น จากการศึกษาของ Vathesatogkit P.ในปี พ.ศ.2558 ที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่มากกว่าประชาชนทั่วไป อีกทั้งการสูบบุหรี่เป็นปัญหาที่สำคัญของการสาธารณสุขไทย ซึ่งพบว่าภาคใต้เป็นภาคที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุด ร้อยละ 22.4 และจังหวัดที่มีอัตรา การสูบบุหรี่สูงสุด 5 ลำดับแรกอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ร้อยละ 29.4 จังหวัดสตูล ร้อยละ 25.2 จังหวัดพังงา ร้อยละ 24.6 จังหวัดนครศรีธรรมราช ร้อยละ 24.6 และจังหวัดระนอง ร้อยละ 24.5 ส่วนจังหวัดสงขลา ค่าประมาณสถิติของการสูบบุหรี่อยู่ที่ ร้อยละ 18.5 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่สาม พ.ศ.2565 – 2570 ให้สอดคล้องตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก “WHO Framework Convention on Tobacco Control” (FCTC) ที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นรัฐภาคี เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ในการควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non Communicable Diseases-NCD) ที่กำหนดว่า ในปี 2568 อัตราการสูบบุหรี่ของประชากร อายุ 15 ปีขึ้นไป ต้องลดลงร้อยละ 30 หรือไม่เกินร้อยละ 15 กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา จึงได้ดำเนินการพัฒนาระบบบริการช่วยเลิกบุหรี่ ในสถานพยาบาลขึ้น เพื่อพัฒนาระบบบริการการเลิกบุหรี่สำหรับสถานพยาบาล และส่งเสริมให้ประชาชนเลิกบุหรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา กรมการแพทย์ มีหน้าที่ให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาและสารเสพติด ในเขตสุขภาพที่ 12 และจังหวัดสงขลา จากสถิติของโรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา ปี พ.ศ.2563-2565 พบว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดรักษายาและสารเสพติด มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ร่วมด้วย เป็นร้อยละ 53.08, 55.00 และ 57.60 และประสงค์เข้ารับบริการช่วยเลิกบุหรี่ เป็นร้อยละ 2.14, 1.41 และ 1.12 ตามลำดับ ดังนั้น จึงมอบหมายให้กลุ่มภารกิจพัฒนาระบบสุขภาพดำเนินการพัฒนาระบบบริการช่วยเลิกบุหรี่ ในสถานพยาบาลขึ้น โดยจัดรูปแบบการให้บริการเลิกบุหรี่ด้วยระบบบูรณาการ 5A ดังนี้ ได้แก่ Ask (สอบถามประวัติ) Advise (แนะนำให้เลิกบุหรี่) Assess (ประเมินการติดบุหรี่) Assist (ช่วยให้เลิกบุหรี่) Arrange (ติดตามการเลิกบุหรี่)
แพทย์หญิงปิยนันท์ สงห้อง รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบสุขภาพ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา กรมการแพทย์ กล่าวเสริมอีกว่า สำหรับการจัดรูปแบบการให้บริการเลิกบุหรี่ด้วยระบบบูรณาการ 5A นั้น เพื่อพัฒนาระบบบริการช่วยเลิกยาสูบ กลุ่มโรคทางยาเสพติด พัฒนาศักยภาพบุคลากร ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดนิโคติน พัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยนิโคติน และต่อยอดเกณฑ์ การประเมินการบริการต้นแบบการประเมินมาตรฐานสถานพยาบาลปลอดบุหรี่