วันที่ 5 มิถุนายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้านอาหารสัตว์ในลำดับต้น ๆ ของโลก ทั้งกลุ่มอาหารสัตว์เศรษฐกิจและอาหารสัตว์เลี้ยง แนวโน้มการส่งออกอาหารสัตว์ในปี 2567 คาดว่าจะเติบโตเพิ่มสูงขึ้น และเศรษฐกิจไทยขยายตัวนับหมื่นล้านบาท โดย อว. ได้ควบคุมสินค้าเหล่านั้นให้มีคุณภาพได้มาตรฐานและความปลอดภัย รมว.อว. เน้นย้ำให้นำงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารให้ครบวงจร ครอบคลุมทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ และมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) พัฒนาศักยภาพของกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารสัตว์ โดยเน้นกระบวนการผลิต (Manufacturing process) การประกันคุณภาพของห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบ (Quality assurance) และการควบคุมคุณภาพ (Quality control) ของสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ให้ กรมวิทย์ฯ บริการ อว. เร่งผลิตวัสดุและพัฒนาห้องปฏิบัติการอ้างอิง พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศเพื่อช่วยสร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 1 หมี่นล้านบาท ให้ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทย์ฯ บริการ กระทรวง อว. ตระหนักถึงการส่งเสริมพัฒนากระบวนการผลิต กระบวนการตรวจวิเคราะห์ทดสอบ และระบบการประกันคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ตามนโยบายของ รมว.อว. จึงเร่งให้ กรมวิทย์ฯ บริการ อว. ผลิตวัสดุอ้างอิงตามมาตรฐานสากล สร้างการตรวจสอบกลับ เพื่อมั่นใจผลการวัดและควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดด้วยศักยภาพและความเชี่ยวชาญของ กรมวิทย์ฯ บริการ ที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ได้เข้าไปมีบทบาทในระบบการประกันคุณภาพการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานกว่า 5 ปี โดยการส่งเสริมห้องปฏิบัติการทดสอบด้านอาหารสัตว์ทั่วประเทศ 150 แห่ง ให้เข้าร่วมเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการ และเร่งผลิตวัสดุ พร้อมทั้งพัฒนาห้องปฏิบัติการอ้างอิง ทั้งนี้ กรมวิทย์ฯ บริการ อว. พร้อมสร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการทั่วประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยการวิเคราะห์หาปริมาณสารและองค์ประกอบหลักต่าง ๆ ในอาหารสัตว์จำพวกอาหาร เช่น เป็ด ไก่ ปลา วัว สุนัข เพื่อประเมินสมรรถนะของห้องปฏิบัติการว่ามีความสามารถในการทดสอบ ให้ค่าผลการวัดที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ
ปัจจุบัน กรมวิทย์ฯ บริการ อว. สามารถผลิตวัสดุอ้างอิงด้านอาหารสัตว์ รายการ Water-soluble chlorides รายการ minerals (Ca, Cu, Fe, Mg, Mn, K, Na, Zn และ P) และรายการ Moisture, Protein, Crude fat, Crude fiber and Ash ผลิตได้ตามมาตรฐาน ISO 17034 และ ISO Guide 35 ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน พร้อมมีห้องปฏิบัติการนำไปใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบความสมเหตุผลของวิธีทดสอบ การทวนสอบของวิธีทดสอบ การสร้างและพัฒนาห้องปฏิบัติการเครือข่าย และควบคุมคุณภาพของห้องปฏิบัติการ 379 ห้องปฏิบัติการ โดย กรมวิทย์ฯบริการ อว. ได้ยื่นขอการรับรองการเป็นผู้ผลิตวัสดุอ้างอิง (Reference Material Producer) ตามมาตรฐานสากล เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห้องปฏิบัติการในภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมบริการอาหารแห่งอนาคต
นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตวัสดุอ้างอิงอาหารสัตว์ในประเทศ และการเปิดห้องปฏิบัติการอ้างอิง รวมถึงห้องปฏิบัติการเครือข่ายทั้ง 379 แห่งทั่วประเทศ ช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิต ประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัสดุอ้างอิงจากต่างประเทศและทำให้เกิดมาตรฐานการผลิตที่ดี ขณะนี้ กรมวิทย์ฯบริการ อว. เตรียมขยายการผลิตวัสดุอ้างอิงอื่น ๆ ให้ครอบคลุมกับความต้องการของภาคการผลิตและอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน ต่อไป