นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตนมีนโยบายในการยกระดับและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืนด้วยการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับมาตรฐานสินค้าและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสินค้าของเกษตรกรและชุมชน จึงได้มอบหมายกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ยกระดับคุณภาพเกลือทะเลไทยให้สามารถส่งออกสู่ตลาดโลก เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต โดยสืบสานการบูรณาการร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร
ซึ่งการทำนาเกลือทะเลในประเทศไทย เป็นอาชีพท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาเป็นระยะเวลานาน โดยการทำนาเกลือทะเลจะต้องอาศัยภูมิปัญญา ความชำนาญของเกษตรกรและธรรมชาติมาเป็นปัจจัยในการผลิต ซึ่งเกลือทะเลจะมีไอโอดีนที่มาจากธรรมชาติ เป็นธาตุอาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามเกลือทะเลไทยไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในวงกว้าง เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีความเชื่อมั่นในคุณภาพเกลือทะเล ทำให้มีการนำเข้าเกลือทะเลจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีปัญหาราคาเกลือทะเลตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ เกิดภาวะหนี้สิน
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า กรมวิทย์ฯบริการ เล็งเห็นความสำคัญของการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ทำนาเกลือทะเลให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดภาระเรื่องเงินลงทุนและหนี้สิน สร้างความมั่นคงให้แก่เศรษฐกิจฐานราก จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเกลือทะเล (MOU) กับกรมส่งเสริมการเกษตร ณ วันที่ 30 มีนาคม 2566 ในการตรวจสอบคุณภาพเกลือทะเลไทยร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร และได้ดำเนินการให้บริการด้านการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเกลือทะเลในห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐาน รวมถึงการพัฒนาวิธีทดสอบเกลือทะเลให้เป็นไปตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เกลือทะเลธรรมชาติ มกษ. 8402-2562 จากผลการทดสอบคุณภาพ ความปลอดภัย และปริมาณสารปนเปื้อนได้แก่ ตะกั่ว สารหนู แคดเมียม ปรอท และทองแดง ในเกลือทะเลจากแปลงต้นแบบ ในพื้นที่ 7 จังหวัด คือ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี และ ปัตตานี พบว่าเกลือทะเลมีคุณภาพและความปลอดภัยของปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนัก ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ. 8402-2562) ปัจจุบันสินค้าเกลือทะเลไทยมีการยกระดับการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพ เกษตรกรสามารถจำหน่ายเกลือทะเลที่มีคุณภาพสูง ทดแทนการนำเข้าและมีการขยายการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ อาทิ ประเทศกัมพูชา เวียดนาม พม่า มาเลเซีย เป็นต้น โดยในปี 2565 มีมูลค่าการส่งออกกว่า 1,145 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า กรมวิทย์ฯ บริการ จะได้พัฒนาห้องปฏิบัติการอ้างอิงทดสอบเกลือทะเลไทย ตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025: 2017 ต่อไป ซึ่งในปี 2567 ได้ยื่นขยายขอบข่ายการรับรองในรายการตะกั่วและแคดเมียมในตัวอย่างเกลือ รวมทั้งจะได้ถ่ายทอดวิธีการทดสอบโลหะหนักในเกลือให้แก่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์ โดยอ้างอิงวิธีการทดสอบตามมาตรฐาน European Salt Producers’ Association (EUsalt) นอกจากนี้ วศ.อว.จะสืบสานการดำเนินการร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการตรวจสอบคุณภาพเกลือทะเลต่อไป เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล และกรมส่งเสริมการเกษตร สามารถนำผลการทดสอบไปใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิตเกลือทะเลตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาที่เหมาะสมให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เกษตกรผู้ทำนาเกลือทะเลสามารถแข่งขันในตลาดสากล เสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกร และเป็นการอนุรักษ์วิถีอาชีพเกลือทะเลและพื้นที่นาเกลืออย่างยั่งยืน