โรคไข้โอโรพุช ไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่หรือเพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Oropouche virus (OROV) ซึ่งไวรัสชนิดนี้เป็นเชื้อประจำถิ่น (endemic) ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอเมซอน รวมถึงยังมีรายงานการพบผู้ป่วยในประเทศแถบอเมริกาใต้ (เช่น Brazil, Peru, Argentina, Bolivia, Colombia) และแถบแคริบเบียน (เช่น Panama, Trinidad และ Tobago) และเชื้อมีระยะฟักตัวโดยทั่วไป คือ 4-8 วัน (อยู่ในช่วง 3-12 วัน)
อาการของโรค ได้แก่
- ไข้เฉียบพลัน
- หนาวสั่น
- ปวดหัว
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดข้อ
- ปวดกระบอกตา
- ผื่น
- มีอาการเลือดออก เช่น จุดเลือดออกที่ผิวหนัง เลือดกำเดา และเลือดออกตามไรฟัน (ประมาณร้อยละ16)
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningoencephalitis) แต่พบได้น้อย
การติดต่อของโรค
โรคโอโรพุชมีแมลงเป็นพาหะ โดยพาหะนำโรคหลัก คือ ตัวริ้น (Culicoides paraensis) ซึ่งพบมากในทวีปอเมริกา และยุงบางชนิดสามารถเป็นพาหะของไวรัส OROV ได้ เช่น Culex quinquefasciatus, Coquillettidia venezuelensis, Mansonia venezuelensis และ Aedes serratus ทั้งนี้ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการพบตัวริ้นที่เป็นพาหะหลักในประเทศไทย รวมถึงยังไม่มีรายงานในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังไม่พบหลักฐานการแพร่ระบาดระหว่างคนสู่คน
ความเสี่ยงของโรคโอโรพุชในประเทศไทย
- สาเหตุหลักอาจมาจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปพื้นที่ที่มีการระบาด โดยเฉพาะประเทศแถบอเมริกาใต้ และแถบแคริบเบียน ซึ่งความเป็นไปได้ยังคงต่ำมาก อีกทั้งความรุนแรงของโรคค่อนข้างน้อย อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญทางระบาดวิทยาให้ความเห็นว่า ความเสี่ยงการระบาดของโรคนี้ในประเทศไทยค่อนข้างต่ำ แต่ต้องระมัดระวังในกลุ่มผู้เดินทางไปประเทศดังกล่าว
คำแนะนำสำหรับประชาชนที่เดินทางไปในประเทศไปที่มีรายงานการระบาดของโรคนี้ ดังนี้
- ป้องกันตนเองระหว่างที่เดินทางในต่างประเทศดังกล่าว โดยควรสวมเสื้อและกางเกงขายาว เพื่อป้องกันยุงและตัวริ้นกัด
- ทาโลชั่นกันยุง และหลีกเลี่ยงการในสถานที่ที่มียุงหรือแมลงเยอะ
- หากเดินทางกลับประเทศไทยแล้วมีอาการไข้เฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดกระบอกตา และผื่น ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และรีบไปพบแพทย์ แจ้งประวัติการเดินทาง เพื่อดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคต่อไป สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422