วันที่ 10 กันยายน 2567 นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กรมวิทย์ฯ บริการได้จัดประชุมความร่วมมือนานาชาติด้านแก้ว ภายใต้หัวข้อ “International collaboration in glass science & technology: Strengthening academic networks and laboratory capabilities to support S-curve industries” การประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายทางวิชาการและยกระดับความสามารถของห้องปฏิบัติการในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการเสริมศักยภาพในการแข่งขันและสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ตามนโยบายนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่ท่านได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมแก้ว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ด้วยมูลค่ารวมกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี ความร่วมมือกับสมาคมนานาชาติด้านแก้ว (International Commission on Glass. ICG) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศด้านแก้วไม่แสวงหาผลกำไร และเป็นหนึ่งในความร่วมมือระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในด้านGlass Science and Technology โดยมีสมาชิกกว่า 37 องค์กร จากสถาบันวิจัยด้านแก้ว มหาวิทยาลัย องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรศิลปะที่ทำจากแก้ว และผู้ประกอบการจากทั่วโลก จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาอุตสาหกรรมแก้วของไทยอย่างยั่งยืนการประชุมนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมแก้วไทยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจาก Prof. Dr. Reinhard Conradt อดีตประธาน ICG ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือครั้งนี้
ในการนี้ กรมวิทย์ ฯ บริการ ซึ่งเป็นสมาชิก ICG ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้านเทคนิค TC02: Chemical Durability and Analysis ของ ICG ได้เน้นย้ำถึงแผนการยกระดับห้องปฏิบัติการในประเทศไทยให้ทันสมัย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านการวิจัยวัสดุที่ซับซ้อนมากขึ้น และเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิง พร้อมทั้งเสริมสร้างศักยภาพในการวิเคราะห์และทดสอบวัสดุ โดยหวังว่าการร่วมมือกับ ICG ที่เป็นแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญจากห้องปฏิบัติการอ้างอิงจากทั่วโลก จะช่วยให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านห้องปฏิบัติการวัสดุและเทคโนโลยีด้านแก้วในอนาคต นอกจากนี้ กรมวิทย์ ฯ บริการ ยังมีแผนสร้างเครือข่ายกับสถาบันชั้นนำจากต่างประเทศเพื่อยกระดับความสามารถของบุคลากรในประเทศ ด้านการวิเคราะห์ ทดสอบ และวิจัยวัสดุ และเตรียมผลักดันให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในระดับสากล
การยกระดับอุตสาหกรรมแก้วและห้องปฏิบัติการในประเทศไทยจะนำมาซึ่งการสร้างงานและโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ เพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะส่งผลดีต่อการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ การร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศจะช่วยให้ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคและความรู้ที่ทันสมัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแก้วให้เติบโตและแข่งขันได้ในตลาดโลก อีกทั้งประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการมีเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยและมีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตและการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า การพัฒนาอุตสาหกรรมแก้วอย่างยั่งยืนจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว การประชุมในครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาของประเทศไทยในระยะยาว และเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในเวทีระดับโลกด้วย และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นการนำวิทยาศาสตร์เพื่อดูแลประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นจากอุตสาหกรรมระดับชุมชน