กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดี แก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่คว้ารางวัลจากเวทีนานาชาติ (Internationally Outstanding Inventors Awards Ceremony) โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ พร้อมทั้งกล่าวแสดงความยินดีแก่นักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลฯ ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก วิภาวดี
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่คว้ารางวัลจากเวทีนานาชาติ ในพิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดี แก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่คว้ารางวัลจากเวทีนานาชาติ (Internationally Outstanding Inventors Awards Ceremony) ซึ่งเป็นการส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่เวทีระดับนานาชาติ เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนให้นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์กับนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากนานาประเทศ อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ผลงานและแสดงศักยภาพในการประดิษฐ์คิดค้นของคนไทย ต่อสายตาชาวโลก ตลอดจนผลักดันความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศ ทำให้ไทยได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในเวทีระดับนานาชาติ นับเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาประเทศไทย สร้างความเข้มแข็ง และร่วมกันพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนต่อไป
ในการนี้ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว.ได้ชื่นชมและมอบประกาศนียบัตรให้กับนักวิจัยกรมวิทย์ฯ บริการ นางสาวพรรัตน์ ไชยมงคล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน ที่สามารถคว้ารางวัลจากการประกวดจากเวที “WorldInvent Singapore 2024″ (WoSG) ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยนักวิจัยกรมวิทย์ฯ บริการสามารถคว้า 3 รางวัลจากเวทีดังกล่าว จากผลงาน “ผลิตภัณฑ์เซรามิกต้านเชื้อสำหรับอุปกรณ์สปาและแพทย์ทางเลือก” ได้แก่
1. ชนะเลิศเหรียญทอง Gold Medal Award
2. Special Prize “The best International Invention” จากประเทศเกาหลีใต้
3. Honorable Mention Award for Excellent Invention จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ผลงานดังกล่าวเกิดขึ้นจากการพัฒนาเพื่อเติมเต็มช่องว่างในอุตสาหกรรมสปาและแพทย์ทางเลือก ซึ่งก้าวมาเป็นความต้องการหลักทางการแพทย์เทียบเท่าแพทย์แผนปัจจุบัน แต่อุปกรณ์เครื่องมือในอุตสาหกรรมดังกล่าวยังอยู่ในรูปแบบ Traditional เช่น ไม้ เขาสัตว์ หรือหิน เป็นต้น นักวิจัยจากกรมวิทย์ฯ บริการ จึงได้วิจัยและพัฒนาโดยอาศัยองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ บูรณาการร่วมกับกลุ่มแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก พัฒนาเป็นวัสดุเซรามิกที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อ พร้อมทั้งมีการทดสอบคุณสมบัติด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานเครื่องมือแพทย์แผนปัจจุบัน โดยยังคงรูปลักษณ์และบริบทเดิมของการใช้งานทางสปาและแพทย์ทางเลือกไว้ ยึดหลักการที่ว่า “Keep feeling but improve the performance by technology” เป็นการยกระดับมาตรฐานทางชีวอนามัยของอุตสาหกรรมสปาและแพทย์ทางเลือกในประเทศไทย อีกทั้งตอบสนองนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ (Medical and Wellness Tourism)
นอกจากนี้ กรมวิทย์ฯ บริการ โดยนางสาวพรรัตน์ ไชยมงคล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ ยังได้รับรางวัลระดับนานาชาติจากผลงาน “นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ด้านการทำความสะอาดฆ่าเชื้อในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินโดยการใช้กระบวนการ Advanced Oxidation Process ในการฆ่าเชื้อโรคทั้งในพื้นผิวและอากาศภายในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน” ส่งเข้าประกวดนวัตกรรมในงาน International Exhibition of Inventions in the Middle East ประเทศคูเวต เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ โดยผลงานดังกล่าวประกอบด้วย 2 Model ได้แก่ Model สำหรับติดตั้งในสถานีรถพยาบาล จะใช้งานเมื่อรถพยาบาลออกไปให้บริการผู้ป่วยและกลับมาทำความสะอาดฆ่าเชื้อที่ Station และ Portable Model สำหรับติดตั้งในรถพยาบาลกรณีที่ไม่สามารถกลับเข้าทำความสะอาดที่สถานีได้ และมีประโยชน์อย่างยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดรุนแรงและสถานการณ์ปกติ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่บุคลากรและผู้ป่วย
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทย์ฯบริการขอชื่นชม และร่วมภาคภูมิใจกับ นางสาวพรรัตน์ ไชยมงคล และนักวิทยาศาสตร์ท่านอื่นๆ ที่เป็นข้าราชการและบุคลากรกรมวิทย์ฯบริการ ในความมุ่งมั่นตั้งใจที่พัฒนาและนำงานวิทยาศาสตร์ไปสู่การดูแลประชาชน ความสำเร็จในครั้งนี้ ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสามารถในการคิดค้นและพัฒนา จากงานวิทยาศาสตร์ โดยที่บุคลากรกรมวิทย์ฯ บริการทุกคนมีปณิธานอุดมการณ์ ที่จะ “นำวิทยาศาสตร์ไปสู่การดูแลประชาชน” อย่างเป็นรูปธรรม และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม การสนับสนุนดังกล่าวไม่เพียงแต่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ได้เกิดขึ้นอีกมากมาย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป