ชักจากไข้สูง (Febrile Seizure) เป็นอาการชักที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 5 ปี เนื่องจากไข้สูงอย่างรวดเร็ว โดยนายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงอาการ ชักจากไข้สูง เป็นภาวะเร่งด่วนทางการแพทย์ พบได้ตลอดทั้งปี เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัด ต่อมทอนซิลอักเสบ ไข้ออกผื่น หรือท้องเสีย ความเสี่ยงคือเมื่อมีไข้สูงตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไปพบมากในช่วง 1-2 วันแรกของการมีไข้
ขั้นตอน ปฐมพยาบาล ชักจากไข้สูง
1.พยายามตั้งสติ
2.กรณีเด็กตัวเล็กและสามารถจัดท่าขณะที่มีอาการชักได้ ให้จัดท่านอนตะแคงหันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่งและหลีกเลี่ยงการหนุนหมอน การจัดท่าทางแบบนี้จะช่วยป้องกันการสำลักได้ และห้ามใช้อุปกรณ์หรือวัสดุต่าง ๆ รวมถึงนิ้วมือของผู้ปกครอง ใส่เข้าไปในปากของเด็ก
3.งดเว้นการป้อนยา หรือน้ำทางปากในขณะที่มีอาการชัก
4.หลีกเลี่ยงการพยายามงัดง้างถ่างกดแขนขาของเด็กขณะมีอาการชัก และนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล หรือโทร 1669
5.ระหว่างนั้นผู้ปกครองพยายามจับเวลาช่วงที่มีอาการชักเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับแพทย์ สังเกตว่าเด็กมีปากและสีผิวสีเขียวคล้ำร่วมด้วยหรือไม่ ร่วมกับการเช็ดตัวผู้ป่วยตลอดทางระหว่างนำส่งโรงพยาบาล โดยใช้น้ำอุณหภูมิห้องและหลีกเลี่ยงการใช้น้ำเย็น จนกว่าจะไปถึงโรงพยาบาลหรือได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
วิธีป้องกันการ ชักจากไข้สูง
1.เช็ดตัวลดไข้ ควรถอดเสื้อผ้าเด็กออกให้หมด ใช้ผ้าขนนุ่มชุบน้ำให้ชุ่มเช็ดชโลมให้ทั่วทั้งตัว ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ครอบคลุมถึงซอกแขน ซอกขาและข้อพับต่าง ๆ เช็ดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จนกว่าไข้จะลดลง
2.หากเด็กรู้สึกตัวเป็นปกติแล้ว ให้รับประทานยาลดไข้กลุ่มพาราเซตามอล และพยายามกระตุ้นให้จิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อให้ได้รับน้ำเพียงพอ และเพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถจัดการกับภาวะอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้
ทั้งนี้ อาการไข้ชักในบางรายอาจจจะได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ ดังนั้นในครอบครัวที่พ่อแม่เคยมีประวัติไข้ชัก ก็จะทำให้ลูกน้อยมีโอกาสชักเวลามีไข้สูงเพิ่มมากขึ้นได้ โดยอาการชักเนื่องจากไข้นี้ จะไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต การเรียนรู้ หรือพัฒนาการของเด็ก ยกเว้นในรายที่มีความผิดปกติจากโรคทางระบบประสาทอื่น ๆ โดยควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับการดูแลรักษา ตลอดจนป้องกันการชักซ้ำในโอกาสต่อไป
ไข้ชัก #ชักจากไข้สูง #ระบบประสาท #ไม่งัดไม่ง้างไม่ถ่างไม่กดไม่ทั้งหมดชักหยุดเอง #สถาบันประสาทวิทยา
#โรงพยาบาลเฉพาะทางโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลังของรัฐ
3 ตุลาคม 2567