แน่นอนว่าหลังจาก วันที่ 23 มกราคม 2568 การสมรสที่จากเดิมจะต้องเป็น “ชายและหญิง” เท่านั้นที่สามารถจดทะเบียนได้ ก็จะเปลี่ยนเป็น “บุคคลและบุคคล” ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็จดทะเบียนตามกฎหมายได้
แต่หลายคนอาจจะกำลังสงสัยว่า การเปลี่ยนแปลงกฎหมายในครั้งนี้ เราต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมาย มีค่า นิวส์ สรุปมาให้ค่ะ
คุณสมบัติและเงื่อนไขการสมรสเท่าเทียม
1.ทั้งสองฝ่ายอายุครบ 18 ปี แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้
2.ต้องการทำการสมรสใหม่เมื่อสมรสเก่าได้ผ่านพ้นไปอย่างน้อย 310 วัน เว้นแต่
- คลอดบุตรในระยะนั้น
- มีคำสั่งศาล
- สมรสกับคู่สมรสเดิม
- มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
3.สมรสไม่ได้ถ้าเป็นบุคคลวิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถ
4.พี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา
5.บุคคลที่มีคู่สมรสอยู่แล้ว
6.พ่อแม่ และบุตรบุญธรรม
เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม
1.บัตรประชาชน กรณีชาวต่างชาติต้องมีหนังสือเดินทาง หรือเอกสารอื่น ๆ ที่สามารถใช้แสดงตัวบุคคลได้
2.สัญญาก่อนสมรส (ถ้ามี)
3.พยาน 2 คนอายุ 20 ปีขึ้นไป
4.หนังสือรับรองสถานภาพที่แสดงว่าไม่มีคู่สมรสในขณะที่จะจดสมรส (สำหรับชาวต่างชาติ)
5.หนังสือยินยอม (กรณีที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ)
จดทะเบียนสมรสแล้วมีสิทธิอะไรบ้าง
- คู่สมรสมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
- คู่สมรสมีสิทธิในการใช้ชื่อสกุลของคู่สมรสอีกฝ่าย
- มีสิทธิจัดการทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส หรือที่เรียกว่าสินสมรสร่วมกัน
- มีสิทธิรับมรดกของคู่สมรสเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิตไปก่อน
- มีสิทธิรับเงินจากทางราชการ หรือนายจ้าง เช่น กรณีที่คู่สมรสตายเพราะปฏิบัติหน้าที่ หรือจากการทำงาน (บำเหน็จตกทอด) หรือ การรับเงินสงเคราะห์บุตรตามกฎหมายแรงงาน
- มีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หรือค่าทดแทนจากผู้ที่ทำให้คู่สมรสของตัวเองเสียชีวิตได้
- สามารถเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ตามกฎหมาย เมื่อพบว่าคู่สมรสมีชู้ ก็สามารถเรียกค่าเสียหายได้ทั้งจากคู่สมรสและชู้
- ได้รับการลดหย่อนค่าภาษีเงินได้ตามเงื่อนไขการลดหย่อนภาษี
- คู่สมรสที่ทำความผิดระหว่างกัน เช่น สามีขโมยเงินภรรยา ภรรยาบุกเข้าบ้านสามี ผู้ที่ทำผิดไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย
- การจดทะเบียนสมรสทำให้คู่สมรสฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้ายคู่สมรสของตัวเองได้ เช่น หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งถูกโจรปล้น คู่สมรสอีกฝ่ายก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแทนได้
สถานที่จดทะเบียนสมรสและหย่า
- อำเภอ
- เขต
- สถานทูตกงสุลไทยในต่างประเทศทุกแห่ง
*หมายเหตุ :
- จดทะเบียนสมรสในสำนักทะเบียน ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
- จดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน ฉบับละ 200 บาท พร้อมรถรับ – ส่ง นายทะเบียน
ถ้าเราต้องหย่ากัน มี 3 กรณี
- คู่สมรสเสียชีวิต
- การจดทะเบียนหย่า
- ศาลสั่งให้ถอนสมรส
หย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายสามารถดำเนินการโดย 2 วิธี
- การหย่าในสำนักทะเบียนเดียวกัน
- การหย่าต่างสำนักทะเบียน
เอกสารที่ต้องใช้ในการหย่า
- บัตรประชาชน กรณีชาวต่างชาติต้องมีหนังสือเดินทาง หรือเอกสารอื่น ๆ ที่สามารถใช้แสดงตัวบุคคลได้
- สัญญาการหย่า
- คำสั่งศาล
- พยาน 2 คนอายุ 20 ปีขึ้นไป
ขอบคุณภาพ ข้อมูล บางกอก ไพรด์