นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ตามกฎหมายประกันสังคมได้กำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ขึ้นทะเบียนนายจ้างและแจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนให้กับลูกจ้างให้ครบทุกคน และนำส่งเงินสมทบกับสำนักงานประกันสังคม ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยทุกครั้งที่นายจ้างมีการจ่ายค่าจ้าง ให้นายจ้างหักค่าจ้างของผู้ประกันตนตามจำนวนที่ต้องนำส่งเงินสมทบ และให้นายจ้างนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนที่หักไว้ รวมส่วนของนายจ้างนำส่งให้กับสำนักงานประกันสังคมภายในระยะเวลาที่กำหนด พร้อมยื่นแบบแสดงรายการนำส่งเงินสมทบ สปส.1-10 ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ให้ถูกต้องครบถ้วน
ช่องทางการรับชำระเงินกองทุนประกันสังคม มีดังนี้
1.รับชำระเงินมาตรา 33 ผ่าน QR Code (Cross Bank Bill Payment บริการชำระบิลข้ามธนาคาร) โดยนายจ้างสามารถชำระเงิน โดยการสแกน QR code ด้วย Mobile Banking ของธนาคารต่าง ๆ ได้ทุกธนาคารที่รองรับการชำระบิลข้ามธนาคาร โดยธนาคารต่าง ๆ จะโอนเงินเข้ามาที่บัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ของสำนักงานประกันสังคม นายจ้างสามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ได้ทันทีที่ชำระเงินเรียบร้อยแล้วจากเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม (https://www.sso.go.th/erc)
2.รับชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) มีธนาคารและหน่วยบริการ ได้แก่
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
- ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ.
- ธนาคาร มิซูโฮ จำกัด สาขากรุงเทพฯ
- ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
- ธนาคารดอยซ์ แบงก์
- ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์
- ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส
- ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)
- หน่วยบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส
- ชำระเงินด้วยบัตรเดบิต/เครดิต มาสเตอร์การ์ด
จำนวนเงินที่รับชำระไม่เกิน 49,000 บาท ต่อรายการ สำหรับช่องทางรับใบเสร็จ นายจ้างสามารถสั่งพิมพ์หรือดาวน์โหลดใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ได้จากเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม (https://www.sso.go.th/erc)
3.รับชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร มี 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายจ้างสามารถรับใบเสร็จรับเงินทันทีที่ชำระเงินจากเคาน์เตอร์ธนาคาร
ทั้งนี้ หากนายจ้างไม่ชำระเงินสมทบตามกำหนดเวลา หรือค้างชำระเงินสมทบ อาจส่งผลกระทบต่อการได้รับสิทธิของลูกจ้าง ทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ และนายจ้างจะถูกดำเนินการตามกฎหมายของสำนักงานประกันสังคม โดยต้องจ่ายทั้งเงินสมทบพร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของเงินสมทบที่ยังไม่นำส่ง หรือส่วนที่ขาดอยู่จนครบอีกด้วย
