กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือ พร้อมเปิดเงื่อนไขและขั้นตอนในการขอ รับเงินเยียวยาแผ่นดินไหว โดยช่วยเหลือครอบคลุมในหลายด้าน อาทิ ค่าซ่อมแซมที่พักอาศัย เงินปลอบขวัญ และเงินทุนสำหรับการประกอบอาชีพ เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของผู้ประสบภัยโดยเร็ว
อ่านเพิ่มเติม >> ส่อง 4 มาตรการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว
การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหว เป็นไปตามการประเมินของคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหาย ดังนี้
1.ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ จ่ายตามจริงหลังละไม่เกิน 49,500 บาท

2.ค่าที่พักอาศัยชั่วคราว หรือ ค่าเช่าบ้าน จ่ายเฉพาะอาคารที่ กทม.ประกาศระงับการใช้ และไม่ได้เข้าไปอยู่ในศูนย์พักพิงที่ กทม. จัดสรร เป็นเงินค่าเช่าบ้านเดือนละ 3,000 บาท ไม่เกิน 2 เดือน เป็นเงินไม่เกิน 6,000 บาท

3.ค่าจัดงานศพผู้เสียชีวิตรายละ 29,700 บาท และกรณีผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือผู้หารายได้หลักของครอบครัว ได้เพิ่มครอบครัวละไม่เกิน 29,700 บาท

4.ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ (ตามใบรับรองแพทย์) กรณีบาดเจ็บสาหัส ช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน 4,000 บาท ส่วนกรณีบาดเจ็บถึงขั้นพิการ ช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน 13,300 บาท

5.เงินปลอบขวัญ (ตามใบรับรองแพทย์) กรณีรับบาดเจ็บจากเหตุสาธารณภัยรายละ 2,300 บาท

6.เงินทุนประกอบอาชีพ ครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท

ขั้นตอน รับเงินเยียวยาแผ่นดินไหว
1.ผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายสามารถดาวน์โหลดแบบคำร้อง ได้ที่เว็บไซต์สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ภายใน 30 วันนับแต่วันเกิดเหตุ หรือเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานคร (กทม.)
2.ยื่นเอกสารคำร้อง พร้อมหลักฐานที่ฝ่ายปกครองของสำนักงานเขต ประกอบด้วย
- แบบสอบข้อเท็จจริงผู้ประสบภัย สำเนาบัตรประชาชน หรือพาสปอร์ต (กรณีไม่มีสัญชาติไทย)
- สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาโฉนดที่ดิน (ต้องระบุชื่อเจ้าบ้าน/เจ้าของบ้าน) หรือ แบบคำรับรอง (แทนโฉนดที่ดิน) สำเนาใบ อช.2 (กรณีคอนโด)
- สำเนาบันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ
- หนังสือรับรองผู้ประสบภัยและบัญชีความเสียหาย (แบบ บ.ส.3)
- บันทึก ป.ค.14 (ใช้กรณีเอกสารไม่ครบถ้วน)
- เอกสารประกอบการขอรับความช่วยเหลือค่าวัสดุซ่อมแซมที่พักอาศัยฯ
- รูปถ่ายความเสียหายที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ขอรับความช่วยเหลือต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่ออกโดยสำนักงานเขต และเอกสารอื่น ๆ ตามที่ระบุในแต่ละกรณี โปรดติดต่อสำนักงานเขตพื้นที่ที่อยู่อาศัยของท่าน เพื่อขอคำแนะนำและยื่นคำร้องภายในระยะเวลาที่กำหนด
ขอบคุณภาพ ข้อมูล กรุงเทพมหานคร