วัดเขาอ้อ หรือ สำนักเขาอ้อ วัดดังในตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1651 เคยเป็นสำนักพราหมณ์ผู้เรืองเวทย์มาก่อน มีกษัตริย์หลายพระองค์ส่งลูกหลานมาเรียน เพื่อรับเอาความรู้ด้านต่าง ๆ จากอาจารย์ผู้สอน ซึ่งเป็นพราหมณ์จากประเทศอินเดีย ตามตำนาน บอกว่า ความรู้ใน สำนักเขาอ้อ แบ่งเป็น 2 ศาสตร์ คือ
1.ความรู้ในวิชาธรรมศาสตร์อันเกี่ยวข้องด้วยการปกครอง การสร้างบ้านแปลงเมือง และการทำมาหากิน
2.ความรู้เกี่ยวข้องด้วยเรื่องของพิธีกรรม ไสยศาสตร์การแพทย์
นอกจากนี้ เชื่อกันว่า เจ้าอาวาสวัดเขาอ้อทุกรูป เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านไสยเวทย์ มีชื่อเสียงทางด้านคงกระพันชาตรี การแพทย์แผนโบราณ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ ว่าน จึงมีพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่อง คือ พิธีแช่ว่าน พิธีหุงข้าวเหนียวดำ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ของ สำนักเขาอ้อ
แช่ว่าน วัดเขาอ้อ คือ พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นการ “แช่ว่านยา 108 ชนิด” เป็นไปตามแบบฉบับของวัดเขาอ้อ ตามประเพณีเก่าแก่โบราณ ด้านไสยศาสตร์ และความเชื่อเรื่องการอยู่ยงคงกระพัน โดยผู้ที่ผ่านพิธีกรรมแช่ว่านยาตามหลักวิชาของวัดเขาอ้อแล้ว จะทำให้บุคคลนั้นมีตบะ และมีอำนาจอย่างเสือ มีความอดทนอย่างหมี มีความเข้มแข็งแคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง สามารถแก้โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และมีความเชื่อว่าผู้ที่แช่ว่านยาวัดเขาอ้อติดต่อกันถึง 3 ครั้งขึ้นไปจะทำให้ร่างกายอยู่ยงคงกระพันต่ออาวุธทุกชนิด
ตัวอย่างข้อห้ามที่เคร่งครัดของการ แช่ว่าน
- ห้ามผิดลูกผิดเมียผู้อื่น
- ห้ามการร่วมเพศแบบผิดธรรมชาติ (เช่น การใช้ปาก)
- ห้ามกินอาหารดิบ หรืออาหารต้องห้ามบางประเภท เช่น ปลาไม่มีเกล็ด, ฝักแฟง, น้ำเต้า
- ห้ามนอนใต้คานหรือใต้บันไดบ้าน
- ห้ามด่าบุพการีหรือครูบาอาจารย์
- ห้ามเดินทางในช่วงใกล้ค่ำ
- ห้ามคบหาผู้หญิงที่ “ค่อมดวง”
ผู้เข้าร่วมพิธีต้องมีวินัยสูงมาก หากละเลย หรือผิดแม้เพียงเล็กน้อย อาจทำให้พลังว่านที่ลงไป “ย้อนกลับ” ทำร้ายผู้ครอบครองเอง
กรณีที่ผู้ผ่าน พิธีแช่ว่าน ทำผิดข้อห้าม จะต้องทำพิธี ล้างอาคม ด้วยการแช่ว่านชนิดใหม่ และเข้ากรรมถือศีล โดยให้ครูบาอาจารย์จากสำนักเดิมเป็นผู้ทำให้เท่านั้น ไม่สามารถทำเองหรือไปแช่กับใครที่ไหนก็ได้
ขอบคุณข้อมูล วิกิพิเดีย, Sanook