กรุงเทพมหานคร ประกาศใช้ ข้อบัญญัติควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 (ข้อบัญญัติควบคุมการเลี้ยงสัตว์) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มกราคม 2569 เป็นข้อบัญญัติใหม่ของกรุงเทพมหานคร ที่มุ่งด้านความปลอดภัยของทั้งคนและสัตว์ ขอให้เจ้าของสัตว์เลี้ยง หรือผู้อยากเลี้ยงสัตว์ศึกษารายละเอียดของข้อบัญญัติ เพราะหากไม่ปฏิบัติตาม หรือฝ่าฝืน อาจได้รับโทษตามกฎหมาย
การจำกัดจำนวนสัตว์เลี้ยงตามขนาดพื้นที่
1.สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น โค กระบือ ม้า กวาง เลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว ต่อพื้นที่ 50 ตารางวา
2.สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น แพะ แกะ สุกร ม้าแคระ เลี้ยงได้ไม่เกิน 3 ตัว ต่อพื้นที่ 50 ตารางวา
3.สัตวปีก แบ่งเป็น ไก่ เป็ด ห่าน เลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว ต่อพื้นที่ 4 ตารางเมตร ส่วนนกขนาดใหญ่ เช่น นกกระจอกเทศ เลี้ยงได้ไม่เกิน 1 ตัว ต่อพื้นที่ 50 ตารางเมตร และนกขนาดเล็ก เลี้ยงได้ไม่เกิน 5 ตัว ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร

ห้ามเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ที่ต้องควบคุมในที่หรือทางสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ยกเว้นกรณี
1.เพื่อรักษาโรคเจ็บป่วยหรือสร้างเสริมภูมคุ้มกันของสัตว์
2.เพื่อกิจกรรมใด ๆ ที่กรุงเทพมหานครประกาศกำหนด
3.เพื่อการย้ายถิ่นที่อยู่ของเจ้าของสัตว์
4.การเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ของทางราชการ และการปล่อยเพื่อการกุศลหรือจารีตประเพณี
สำหรับการเลี้ยงสุนัขและแมว เจ้าของสุนัข และแมว มีหน้าที่นําใบรับรองไปจดทะเบียน ณ สถานที่ที่กรุงเทพมหานครกำหนด ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่สัตว์เกิด หรือ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นําสัตว์มาเลี้ยงในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการกำหนดจำนวนการเลี้ยงสุนัขและแมว ดังนี้
- ห้องเช่าหรืออาคารชุด (คอนโดมิเนียม) ขนาด 20 – 80 ตารางเมตร เลี้ยงได้ 1 ตัว
- ห้องเช่าหรืออาคารชุด (คอนโดมิเนียม) ขนาด 80 ตารางเมตร ขึ้นไป เลี้ยงได้ไม่เกิน 2 ตัว
- เนื้อที่ดิน ไม่เกิน 20 ตารางวา เลี้ยงได้ 2 ตัว
- เนื้อที่ดิน ไม่เกิน 50 ตารางวา เลี้ยงได้ 3 ตัว
- เนื้อที่ดิน ไม่เกิน 100 ตารางวา เลี้ยงได้ 4 ตัว
- เนื้อที่ดิน 100 ตารางวา ขึ้นไป เลี้ยงได้ไม่เกิน 6 ตัว

เมื่อพาสุนัข หรือแมวออกนอกบ้านหรือสถานที่เลี้ยง ต้องใช้สายจูงที่แข็งแรงตลอดเวลา หรือใช้กระเป๋า คอก กรง หรืออุปกรณ์อื่นที่เหมาะสม ห้ามปล่อยให้รบกวนผู้อื่น และเจ้าของหรือผู้เลี้ยงต้องเก็บอุจจาระสัตว์ในที่สาธารณะทุกครั้ง
สุนัขควบคุมพิเศษ พันธุ์อันตราย สุนัขที่มีประวัติทำร้ายคนหรือพยายามทำร้ายคน เช่น พิทบูล ร็อตไวเลอร์ ฯลฯ ต้องใช้อุปกรณ์ครอบปาก ใช้สายจูงที่มีมั่นคงแข็งแรงและจับสายจูงห่างจากคอสุนัขไม่เกิน 50 เซนติเมตร ตลอดเวลา

ทั้งนี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถนำสุนัขและแมวไปรับการฝังไมโครชิป ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า และผ่าตัดทำหมัน ได้ฟรีที่คลินิกสัตวแพทย์ของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 8 แห่ง โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมก่อนเข้ารับบริการ ดังนี้
1.คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 1 สีพระยา เขตบางรัก โทร. 02-236-4055 ต่อ 213
2.คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 2 มีนบุรี เขตมีนบุรี โทร. 02-914-5822
3.คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 3 วัดธาตุทอง เขตวัฒนา โทร. 02-392-9278
4.คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 4 บางเขน เขตจตุจักร โทร. 02-579-1342
5.คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 5 วัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ โทร. 02-472-5895 ต่อ 109
6.คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 6 ช่วงนุชเนตร เขตจอมทอง โทร. 02-476-6493 ต่อ 1104
7.คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 7 บางกอกน้อย เขตบางกอกน้อย โทร. 02-411-2432
8.กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง โทร. 02-248-7417
