นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ให้ความรู้เกี่ยวกับ โรคกระจกตาโก่ง (Keratoconus) ที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยเป็นโรคที่มีกระจกตาบางลงและโก่งขึ้น ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยการมองเห็นที่แย่ลง สายตาเปลี่ยนบ่อย เปลี่ยนแว่นบ่อย หรือต้องการทำเลเซอร์แก้ไขสายตา เช่น เลสิก เพราะมีสายตาสั้นและเอียงเพิ่มขึ้นเร็ว จึงทำให้มีจำนวนผู้ป่วยโรคกระจกตาโก่งที่ตรวจพบมากขึ้น โดยจะพบภาวะของโรคที่ดำเนินไปได้เร็วมากขึ้นในช่วงอายุ 20-30 ปี หรืออาจมีการขยี้ตาร่วมด้วยในผู้ที่มีภูมิแพ้เยื่อบุตา และหากปล่อยให้โรคดำเนินไปโดยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที อาจส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นได้
ปัจจัยการเกิดโรค เช่น อายุน้อย มีประวัติภูมิแพ้ ขยี้ตาบ่อย ๆ ในผู้ป่วยแต่ละรายมีการรักษาแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งหากการดำเนินของโรคเป็นมากขึ้น จะเกิดสายตาสั้นและเอียงมากขึ้น กระจกตาบางลง ชั้นกระจกตาปริแยก และเกิดแผลเป็นที่กระจกตาจนต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาได้
อาการ คือ เริ่มเห็นภาพพร่ามัว เห็นภาพบิดเบี้ยว ผิดรูปร่างไปจากภาพจริง บางรายอาจมีอาการเคืองตา แสบตา ตาสู้แสงไมได้ นอกจากนี้ยังเป็นคนที่มีสายตาสั้น หรือเอียงค่อนข้างมาก ใส่แว่นสายตาช่วยก็มองไม่ค่อยชัดต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย อาการกระจกตาโก่งพบได้เมื่อเข้ารับการตรวจค่าสายตาอย่างละเอียดจากจักษุแพทย์เท่านั้น ดังนั้น ควรสังเกตความผิดปกติของสายตาอยู่เสมอ โดยเฉพาะหากมีอาการที่เป็นสัญญาณของโรคกระจกตาโก่งเบื้องต้น เช่น มองเห็นไม่ชัดจนต้องตรวจวัดสายตาและเปลี่ยนแว่นบ่อย ๆ มีอาการแสบดวงตา ตาสู้แสงไม่ได้ เป็นต้น ที่สำคัญเมื่อเกิดความผิดปกติเหล่านี้ก็อย่านิ่งนอนใจ ขอให้รีบไปพบจักษุแพทย์
การรักษา จะแตกต่างกันไปขึ้นกับระดับความรุนแรงของโรค โดยการฝังวงแหวนในเนื้อกระจกตา (Intrastromal corneal ring segments; ICRS) จัดเป็นการรักษาหนึ่ง เพื่อแก้ไขโรคกระจกตาโก่ง ที่สามารถช่วยลดระดับสายตาที่ผิดปกติ และทำให้กระจกตาแบนลงได้ จึงนิยมพิจารณาฝังวงแหวนในเนื้อกระจกตาเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถทนการใส่คอนแทคเลนส์ได้ โดยที่กระจกตายังไม่มีแผลเป็น ICRS เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ทำจาก polymethyl methacrylate (PMMA) เดิมการฝังวงแหวนในเนื้อกระจกตา ใช้ในการผ่าตัดแก้ไขสายตาสั้น
แต่ในปัจจุบันจัดเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขสายตาในผู้ป่วยที่มีกระจกตาโก่งเนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้มักใส่แว่นสายตาไม่ชัด ใส่คอนแทคเลนส์ก็อาจไม่ชัดหรือเคืองตา และโรคกระจกตาโก่งเป็นข้อห้ามของการทำเลเซอร์แก้ไขสายตา จึงทำให้การฝังวงแหวนในเนื้อกระจกตาได้รับความนิยมมากขึ้น โดยการเลือก จำนวนวงแหวน ขนาดตำแหน่งและความหนาของวงแหวนที่จะฝัง จะต้องมีการตรวจตาโดยละเอียดและส่งคำนวณวงแหวนเฉพาะสำหรับบุคคลนั้น ๆ โดยขึ้นกับระดับสายตาผิดปกติ ความหนากระจกตา และค่าความโค้งกระจกตา
การใส่วงแหวนในเนื้อกระจกตาทำได้โดยการใช้ใบมีดเฉพาะเพื่อทำให้เกิดช่องในเนื้อกระจกตา แต่พบว่าอาจไม่แม่นยำเท่าการใช้เฟมโตเซเคิลเลเซอร์ (Femtosecond LASER) ช่วยในการผ่าตัดทำช่องในเนื้อกระจกตาและอาจพบภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า วิธีการผ่าตัดสามารถทำได้โดยการหยอดยาชาเฉพาะที่ใส่วงแหวนเฉพาะที่คำนวณไว้สำหรับผู้ป่วยรายนั้น ๆ ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ30 นาที หลังผ่าตัดจักษุแพทย์จะใส่คอนแทคเลนส์เพื่อลดการเคืองตาและนัดตรวจติดตามอาการในวันรุ่งขึ้นโดยหลังผ่าตัดจะพบว่าระดับการมองเห็นอาจดีขึ้นบ้างมีสายตาสั้น สายตาเอียงที่ลดลงกระจกตาแบนลงสามารถใส่คอนแทคเลนส์แก้ไขระดับสายตาที่ผิดปกติได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ หากผลการรักษาไม่เป็นที่น่าพอใจสามารถเอาวงแหวนออกได้ และไม่รบกวนการผ่าตัดที่ผู้ป่วยอาจได้รับต่อไปในอนาคตเช่น การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา
วิธีป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการขยี้ตาแรง ๆ
- ป้องกันดวงตา จากเเสงเเดดเเรง ๆ เเละ แสงสีฟ้าจากหน้าจอคอม และมือถือ
- ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ค้างคืน
- ไม่ใช้สายตาหนักเกินไป หากเมื่อยล้าดวงตาเมื่อไร ให้ลองกลอกตาไปมา แต่ไม่แนะนำให้กดหรือนวดดวงตาโดยตรง
ผู้ที่ต้องการให้จักษุแพทย์ตรวจวินิจฉัยให้คำแนะนำและให้การรักษาอย่างเหมาะสม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เลสิกเมตตา โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์(วัดไร่ขิง) โทรศัพท์ 034-388-700 ต่อ 9236 หรือมือถือ 061-413-8860 (ในเวลาราชการ)หรือไลน์ @lasikmetta, Metta lasik Center
ขอบคุณข้อมูล กรมการแพทย์
