โครงการก่อสร้าง กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้แนวทาง การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ที่เน้นการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ เพราะการเข้าถึงธรรมชาติ คือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน นอกจากนั้นการออกแบบกระเช้าไฟฟ้า ไม่ได้คำนึงเพียงแค่การ อำนวยความสะดวก แต่เป็น เครื่องมือของการอนุรักษ์ ที่จะลดการเดินเท้าในเขตเปราะบาง ลดการพักแรมบนภู ลดขยะ ลดภาระของเจ้าหน้าที่ และลดความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ เป็นการเข้าถึงโดยไม่สัมผัสโดยตรง อนุรักษ์ภูกระดึง ด้วยเทคโนโลยีที่เคารพธรรมชาติ โดยมี Timeline 8 ขั้นตอน ก่อสร้าง ดังนี้
- ระยะที่ 1 (ขั้นตอนที่ 1-3) ระยะเวลาการดำเนินงานโดยประมาณ 10 เดือน (พฤษภาคม 2568 – มีนาคม 2569) จะเป็นส่วนของการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างละเอียด โดยศึกษาครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม กายภาพ สังคม สุขภาพ และวิถีชุมชน มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเปิดกว้าง รวมถึงภาคประชาสังคมอย่างเต็มที่
- ระยะที่ 2 (ขั้นตอนที่ 4-6) ระยะเวลาการดำเนินงานโดยประมาณ 5 เดือน (เมษายน – สิงหาคม 2569) เข้าสู่กระบวนการยื่นเสนอรายงาน EIA ซึ่งจะต้องทำการเสนอกับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) และต้องได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ล้วนประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นอิสระและมีความเป็นกลางอย่างสูงในการพิจารณา ก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี รวมถึงขออนุญาตการก่อสร้างต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- ระยะที่ 3 (ขั้นตอนที่ 7-8) ระยะเวลาการดำเนินงานโดยประมาณ 15 เดือน (กันยายน 2569 – พฤศจิกายน 2570) เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างโดยประมาณ 12 เดือน
ขอบคุณข้อมูล รัฐบาลไทย