แม้หลายประเทศจะประกาศให้ โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นและประชาชนคลายการ์ดกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติแล้ว แต่ล่าสุด โควิด-19 กลับมาสร้างความกังวลใจให้กับหลากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียอีกครั้ง เมื่อพบการติดเชื้อและผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข เผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยสะสม 108,891 ราย เสียชีวิต 27 ราย กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากและเสียชีวิตส่วนใหญ่คือ กลุ่ม 608 และเป็นผู้สูงอายุสูงถึง 80% รวมถึงกลุ่มเด็กเล็ก และพบการระบาดใน สายพันธุ์ XEC ที่มาจากลูกหลานโอไมครอน
โควิด-19 สายพันธุ์ XEC แม้อาการจะดูไม่รุนแรง แต่สามารถแพร่เชื้อได้รวดเร็ว เสี่ยงต่อกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง ถึงอัตราการเสียชีวิตจะน้อยลงแต่เป็นเรื่องที่เราต้องป้องกัน จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ประเทศไทยยังพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยมีความสัมพันธ์กับกิจกรรมและการรวมกลุ่มของคนเป็นจำนวนมาก รวมถึงเป็นช่วงฤดูฝน
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังคงเน้นย้ำถึงมาตรการป้องกัน โดยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่แออัด หมั่นล้างมือบ่อย ๆ สังเกตตนเอง หากมีอาการหรือป่วยควรตรวจด้วย ATK หรือหากมีอาการเสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงอยู่ใกล้กลุ่ม 608 รวมถึงยังได้เพิ่มการให้ข้อมูลและการสื่อสารในด้านสุขภาพสาธารณะ พร้อมเดินหน้ารณรงค์ให้ประชาชนไทย ฉีดวัคซีนกระตุ้น อย่างทั่วถึง เพื่อควบคุมการระบาดไม่ให้ลุกลามในวงกว้าง
ขณะที่ในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างกัมพูชา ก็มีการตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ (สายพันธุ์ JN.1) ในชุมชนต่าง ๆ กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา จึงแนะนำให้ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนกระตุ้น ทุก 6 เดือน รวมถึงผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนยังคงป้องกันอาการร้ายแรงของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ JN.1 นี้ได้