นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประกาศ 5 ความสำเร็จ ของกรมการแพทย์ “๑๐+ หัวใจที่รอคอย ๑๐๐+ คืนลมหายใจ ๑,๐๐๐+ สมองฟื้น ๑๐,๐๐๐+” ดูแลผู้ป่วยโรคซับซ้อนรุนแรง ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการ เพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความพิการ ทั้งกรอหินปูนเกาะหลอดเลือดหัวใจ, เปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยสายสวน ไม่ต้องเปิดหน้าอก, เปิดหลอดเลือดสมองโดยสายสวน และส่งทีมแพทย์ดูแลพระสงฆ์และผู้แสวงบุญดินแดนพุทธภูมิ โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรม การแพทย์ และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

โดยกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อนและรุนแรง ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงที่ก้าวหน้าและปลอดภัย ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตและลดความพิการ ประกอบด้วย
1.การกรอหินปูน เพื่อเปิดหลอดเลือดด้วยหัวกรอกากเพชรชนิดแรงเหวี่ยง ครบ 10 ดวง โดยสถาบันโรคทรวงอก
2.การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยสายสวนในผู้ใหญ่ครบ 100 ดวง โดยสถาบันโรคทรวงอก
3.การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ โดยสายสวนในเด็กครบ 100 ดวง โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
4.การเปิดหลอดเลือดสมองโดยใช้สายสวนในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองครบ 1,000 ราย โดยสถาบันประสาทวิทยา
5.การส่งทีมแพทย์ดูแลพระสงฆ์และผู้แสวงบุญที่ดินแดนพุทธภูมิกว่า 10,000 ราย โดยโรงพยาบาลสงฆ์
ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกรมการแพทย์ในการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์มาผสานกับการรักษาโรคหัวใจ เพื่อให้การรักษาพยาบาลไม่ใช่เพียงแค่การยืดชีวิต แต่เป็นการคืนคุณภาพชีวิตแก่ผู้ป่วยทุกคน


โดยกรมการแพทย์มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้รักษาผู้ป่วย และกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญหลายสาขา ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาการจัดบริการทางการแพทย์เฉพาะทางที่ยุ่งยากซับซ้อน ให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการรักษาโรคยากซับซ้อนได้อย่างทั่วถึงด้วยมาตรฐานเดียวกัน ตามปณิธานว่า “ทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต” และมีเป้าหมายนำการแพทย์ไทย ให้เป็น 1 ใน 3 ของเอเชีย สำหรับความสำเร็จ ทั้ง 5 เรื่อง มีรายละเอียด ดังนี้
1.“คืนชีพให้หัวใจด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง” เริ่มทำการรักษาด้วยอุปกรณ์ขับเคลื่อน สายสวนหัวกรอกากเพชรแรงเหวี่ยง ซึ่งหินปูนมีความแข็งส่งผลให้การขยายหลอดเลือดไม่สมบูรณ์ ขดลวดขยายตัวได้ไม่ดีและเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดการตีบกลับซ้ำของขดลวดหรือลิ่มเลือดอุดตันที่ขดลวด การรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วยการกรอหินปูนด้วยหัวกรอกากเพชรชนิดแรงเหวี่ยง ครบ 10 ดวง พบว่าสามารถขยายหลอดเลือดหัวใจได้อย่างสมบูรณ์ ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนช่วยให้หัวใจกลับมา ทำงานเป็นปกติอีกครั้ง โดยผู้ป่วยสามารถส่งตัวมาจากโรงพยาบาลทั่วประเทศหรือเข้ารับการรักษาโดยตรงที่สถาบันโรคทรวงอก
2.“เปิดโอกาสใหม่ให้หัวใจ ด้วยนวัตกรรมแพทย์เฉพาะทาง” ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจมากกว่า 10,000 รายทั่วประเทศ จำนวนนี้มีมากกว่า 100 ราย ที่ได้รับการรักษาด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือดเฉพาะทาง TAVI ผ่านสายสวน โดยไม่เปิดหน้าอก ซึ่งวิธีนี้ช่วยลดความเสี่ยง ฟื้นตัวเร็ว มีประสิทธิภาพเทียบเท่าสากล จึงผลักดันให้โรงพยาบาลรัฐสามารถให้บริการนี้โดยไม่เสียค่าวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ส่วนเกินในทุกสิทธิการรักษา เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยมีคลินิกโรคหัวใจ และ TAVI-HEART TEAM CLINIC สถาบันโรคทรวงอก รับปรึกษาส่งต่อจากเครือข่ายศูนย์หัวใจทั่วประเทศ
3.“หัวใจดวงน้อยได้โอกาสใหม่ ให้เติบโตเต็มดวง” โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ประเทศไทยมีอัตราทารกป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 8 คนต่อทุกการเกิด 1,000 คน หรือพบราว 4,000 รายต่อปี จำนวนนี้เป็นโรคหัวใจพิการชนิดรุนแรง 400 ราย ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน ซึ่งเดิมต้องผ่าตัดใหญ่อย่างต่อเนื่องเมื่อมีอายุมากขึ้น ปัจจุบันสามารถเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดอก ช่วยให้หายเร็ว เจ็บน้อย และกลับไปใช้ชีวิตตามวัยได้เร็วขึ้น ซึ่งมีการรักษาด้วยวิธีนี้ตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบันครบ 100 ราย
4.“ลดตาย ลดพิการ ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง” ในปีที่ผ่านมาโรคหลอดเลือดสมองคร่าชีวิตคนไทยถึง 36,000 ราย โดยสถาบันประสาทวิทยาได้ทำการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยการใช้สายสวนและอุปกรณ์พิเศษในการดึงลิ่มเลือดหรือดูดออกจากหลอดเลือดสมองที่อุดตัน ช่วยลดโอกาสการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต และช่วยชีวิตได้มากที่สุดของประเทศไทย จำนวน 1,000 ราย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันถูกจัดให้เป็นชุดสิทธิประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการรักษาเทคโนโลยีขั้นสูงได้ โดยให้การรักษาทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 80 มีผลการรักษาที่ดีโดยสามารถนำลิ่มเลือดที่อุดตันออกได้สำเร็จ
5.“สุขภาพดีบนเส้นทางศรัทธา ไม่ละเลยแม้อยู่ห่างไกล” แต่ละปีมีผู้แสวงบุญชาวไทยเดินทางไปดินแดนพุทธภูมิ ประมาณ 70,000 – 100,000 คน กรมการแพทย์ ได้ส่งทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ จากหน่วยงานในสังกัดกรม และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปประจำการใน 3 จุด คือ พุทธคยา กุสินารา และลุมพินี ครอบคลุมฤดูแสวงบุญและช่วงเข้าพรรษา โดยตั้งแต่ปี 2553-2568 ให้การดูแลรักษาพระสงฆ์และผู้แสวงบุญชาวไทย รวม 45,993 รูป/คน โดยให้บริการทั้งด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เวชกรรมทั่วไป ทันตกรรม แพทย์แผนไทย และให้ความรู้ในการดูแลตนเอง ที่ผ่านมาได้ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งโรคหลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุกระดูกแตกหัก เย็บแผลอุบัติเหตุ ทำให้ผู้แสวงบุญได้รับความปลอดภัยและกล่าวชื่นชมเป็นอย่างมาก

“๑๐+ หัวใจที่รอคอย ๑๐๐+ คืนลมหายใจ ๑,๐๐๐+ สมองฟื้น ๑๐,๐๐๐+” นี่คือตัวเลขที่ไม่ใช่แค่สถิติ แต่คือ “ชีวิตใหม่” ที่ได้รับการมอบคืนด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ และพลังแห่งเทคโนโลยีการแพทย์ไทย โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข “ทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต”
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : กรมการแพทย์